‘กสิกร’ คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยมีจำนวน 20.0-24.0 ล้านคน
หลังจากที่ทางการกลับมาเปิดประเทศรับชาวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ ประเทศไทยได้รับการตอบรับจากชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ทำให้ในปี 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยคาดว่าจะมีจำนวน 11.0 ล้านคน ซึ่งดีกว่าที่ทางการได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10 ล้านคน
ในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะมีจำนวนประมาณ 20.0 – 24.0 ล้านคน หรือกลับมาคิดเป็นสัดส่วน 50.0%-60.0% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2562 โดยนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางคาดกลับมาฟื้นตัวก่อนและเติบโตกว่าปี 2562 ส่วนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นในภาพรวมน่าจะฟื้นตัวได้ดี แต่ยังต้องใช้เวลากว่าที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจีน ยังต้องติดตามการระบาดระลอกใหม่ และการดำเนินนโยบายช่วงปีหน้า ซึ่งอาจทำให้การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนแบบปกติอาจไม่เกิดขึ้นเร็ว
ขณะที่การใช้จ่ายของชาวต่างชาติเที่ยวไทยสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องในปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 0.84 – 1.01 ล้านล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริปยังต่ำกว่าปี 2562 จากหลายปัจจัย ทั้งความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะใกล้ กลุ่ม Younger Travelers กลุ่มที่เดินทางแบบ Backpacker และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งมีผลต่องบประมาณในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทั้งปี 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 11.0ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2562โดยภายหลังจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือน ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ชาวต่างชาติให้ความสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นคาดว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะมีจำนวนกว่า 9.0 ล้านคน และในเดือน ธ.ค. 2565หากโควิดไม่ระบาดหนักจนกระทบแผนการเดินทางท่องเที่ยว คาดว่าชาวต่างชาติน่าจะเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยมากขึ้น และมีโอกาสที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจแตะระดับ 2 ล้านคน เป็นครั้งแรกนับแต่มีการระบาดของโควิด เนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว และผู้ประกอบการก็เร่งทำการตลาด ขณะที่สายการบินนานาชาติเปิดเส้นทางการบินและเพิ่มความถี่มาไทยมากขึ้นจนถึงช่วงต้นปีหน้า
ในปี 2566 มองว่า ชาวต่างชาติคงจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นจากปี 2565 จากปัจจัยสนับสนุน อาทิแม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะยังไม่จบ และมีโอกาสที่จะเกิดการระบาดเป็นระลอกเกิดขึ้น แต่ก็ไม่น่าจะนำไปสู่การที่ทางการในหลายประเทศรวมถึงทางการไทยกลับมาใข้มาตรการจำกัดการเข้าออกประเทศหรือการกักตัว ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศน่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ทางการไทยยังได้ให้ความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยว โดยยังคงมีการทำแคมเปญการตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศ รวมถึงมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว ได้แก่ มาตรการขยายระยะเวลาพำนักของชาวต่างชาติ ทั้งกลุ่มประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า จากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน และกลุ่ม Visa on Arrival จากไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน (เริ่มวันที่ 1 ต.ค. 65 – 31 มี.ค. 66) และหนึ่งในปัจจัยที่คงปฏิเสธไม่ได้คือการจัดงาน APEC 2022 ที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์ของผู้นำประเทศ ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ทิศทางการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีความไม่แน่นอนสูง ด้วยสภาพแวดล้อมของตลาดยังมีปัจจัยท้าทายหลากหลาย ที่อาจมีผลต่อการฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะปัจจัยความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจหลักของโลกอย่างในสหรัฐฯและยุโรปหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของรายได้และการมีงานทำ สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออก รวมถึงปัญหาค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวจีนยังมีความไม่แน่นอน โดยยังต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ และการดำเนินนโยบายของทางการจีนในช่วงปีหน้า
ภายใต้ปัจจัยดังกล่าว ทำให้การฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทยอยฟื้นตัวในลักษณะของเครื่องหมายถูกหางยาว (P) โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะมีจำนวนประมาณ 20.0 – 24.0 ล้านคน โดยกลับมาคิดเป็นสัดส่วน 50.0%-60.0% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2562 (โดยกรอบประมาณการนี้ ประเมินภายใต้สถานการณ์ที่แม้จีนจะเริ่มทยอยผ่อนปรนมาตรการกักตัวและตรวจเชื้อในพื้นที่ต่างๆ แต่ต้องติดตามการระบาดระลอกใหม่ ความก้าวหน้าของการฉีดวัคซีน mRNA และการดำเนินนโยบายช่วงปีหน้า ซึ่งอาจทำให้การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนแบบปกติอาจไม่เกิดขึ้นเร็ว)
นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางน่าจะกลับมาฟื้นตัวก่อน และคาดว่าจะเติบโตกว่าปี 2562 โดยตลาดที่สำคัญ คือ นักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบีย จากข้อมูลล่าสุดของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางกลับมาแล้วกว่า 59.5% เมื่อเทียบกับในปี 2562โดยนักท่องเที่ยวหลักมาจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเติบโตกว่า 186.0% เมื่อเทียบกับปี 2562 และเป็นตลาดเดียวที่เติบโตเป็นบวกเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ทางการไทยและซาอุฯได้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา และคาดว่าในปี 2566 นักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียยังคงเติบโตต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจากอิสราเอล คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์น่าจะกลับมาฟื้นตัวดี โดยปัจจัยที่หนุนการฟื้นตัว ส่วนหนึ่งมาจากสายการบินมีการขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้และไทยมากขึ้น
สำหรับนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นอาจต้องใช้เวลากว่าที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิดแต่ในภาพรวมน่าจะฟื้นตัวได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียใต้และโอเชียเนียน่าจะฟื้นตัวดี ขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกในภาพรวมจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนที่สูง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณารายประเทศ พบว่า นักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น
สำหรับนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปและอเมริกามีความท้าทายมากขึ้น ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวและบางประเทศอาจจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาค่าครองชีพที่สูง ปัญหาวิกฤติพลังงานหลายประเทศในยุโรป รวมถึงสถานการณ์รัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาในปีหน้า
ในปี 2566 การใช้จ่ายของชาวต่างชาติเที่ยวไทยสร้างรายได้สู่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 0.84-1.01 ล้านล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยต่อทริปอยู่ที่ประมาณ 42,000 บาทต่อคนต่อทริป เพิ่มขึ้นจากประมาณ 40,000 บาทต่อคนต่อทริป ในปี 2565 แต่ยังต่ำกว่าเฉลี่ย 47,895 บาทต่อคนต่อทริป ในปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจาก
กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเอเชียใต้อย่างอินเดีย จำนวนวันพักเฉลี่ยที่ประมาณ 5-7 วัน ค่าใช้จ่ายต่อทริปไม่สูง ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปกติจะมีวันพักที่ยาวกว่า 14-20 วัน ยังฟื้นตัวจำกัด นอกจากนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Younger Travelers) และกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ (Backpacker) ซึ่งมีงบประมาณในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวจำกัด
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอาจไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการท่องเที่ยว เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวได้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตสำหรับผู้คนบางกลุ่ม แต่จะส่งผลต่อการวางแผนการท่องเที่ยวให้สอดคล้องไปกับงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว และเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่สูงทำให้ผู้ประกอบการไทยยังต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการทำตลาด ทำให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกมากขึ้น
พฤติกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวต้องการหาประสบการณ์สัมผัสวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบคนท้องถิ่น (Living and Eat Like a Local) ระหว่างการเดินทาง ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลจากข้อมูลที่มีชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยหรือคนไทยมีการรีวิวตามเครือข่ายสังคมออนไลน์ จากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่ปรับเปลี่ยนไปมีผลต่อรูปแบบการท่องเที่ยว เช่น การเลือกที่พักชุมชนหรือโฮมสเตย์ การท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ การเลือกทานร้านอาหารข้างทาง (Street Food) การไปซื้อสินค้าในร้านท้องถิ่นที่มีการรีวิว ซึ่งมีผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริปที่ลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่งช่วยกระจายรายได้ลงสู่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก
ทั้งนี้ ในปี 2566 แม้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยจะมากขึ้น แต่ยังอยู่ระดับต่ำกว่าก่อนการระบาดของโควิด และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจากจีนที่ยังต้องติดตามนโยบายการควบคุมการระบาดโควิดของทางการจีนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้สภาวะแวดล้อมของตลาดยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวยังคงต้องมีแผนการบริหารความเสี่ยงรองรับเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและไม่กระทบสภาพคล่องของธุรกิจ อาทิ แผนรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการเดินทางของนักท่องเที่ยว การลงทุนโครงการใหม่ที่ยังคงต้องระมัดระวัง การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติหลากหลายมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงการศึกษาทิศทางเทรนด์ของตลาดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว ท้ายสุดมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการยังเป็นสิ่งจำเป็น