พม่าคุมค่าเงินจ๊าต
เมียนมาออกระเบียบควบคุมจำกัดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในการทำธุรกรรมการเงินของภาคเอกชน หวังรักษาเสถียรภาพค่าเงินจ๊าต สกุลเงินหลักของประเทศที่อ่อนค่าลงกว่า 20% แล้วในปีนี้
สำนักข่าวเอเอฟพี และบีบีซี รายงานเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ว่า ธนาคารกลางของเมียนมา (ซีบีเอ็ม) ได้ประกาศจะเพิกถอนใบอนุญาตแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของภาคเอกชนไล่ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจจำพวกโรงแรม ร้านอาหาร สโมสรกอล์ฟไปจนถึงโรงพยาบาล และอื่นๆ เนื่องจากมีการใช้เงินดอลลาร์ในการทำธุรกรรมภายในประเทศมากเกินไปนับแต่ยอมให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวสำหรับเงินจ๊าตมาตั้งแต่ปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองหลังสิ้นสุดการปกครองของทหารในปี 2554 ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนไร้เสถียรภาพ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งใช้ดอลลาร์อย่างแพร่หลาย การนิยมใช้ดอลลาร์ยังทำให้ค่าเงินจ๊าตอ่อนค่าลงกว่า 20% ในปีนี้ จนเงินจ๊าตกลายเป็น 1 ในสกุลเงินที่มีผลงานย่ำแย่ที่สุดในภูมิภาค โดยอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันอยู่ที่ 1,283 จ๊าตต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งถ้าไม่ทำธุรกรรมด้วยดอลลาร์ก็ต้องถือธนบัตรเงินจ๊าตเป็นปึกๆ
“กฎระเบียบใหม่มีขึ้นเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้เงินจ๊าตชำระค่าสินค้า และบริการภายในประเทศ และเพื่อลดการใช้เงินสด ภาครัฐจะสนับสนุนให้ใช้บัตรเดบิต บัตรเครดิต บัตรชำระสินค้าภายใน และระบบจ่ายเงินออนไลน์ภายในประเทศแทน” ธนาคารกลางของเมียนมา ระบุ
โดยภายใต้กฎระเบียบใหม่นี้ ภาคธนาคาร และบริษัทผู้รับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ยังสามารถแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ได้ แต่บริษัทต่างๆ ทั้งภาคเอกชน และที่กองทัพเป็นเจ้าของ และดำเนินการ อย่างเมียนมา อีโคโนมิค โฮลดิ้ง ต้องส่งคืนใบอนุญาตแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้
ทั้งนี้เมียนมาไม่ใช่ประเทศเดียวในเอเชียที่เงินดอลลาร์ถูกใช้เป็นสกุลเงินหมายเลข 2 ของประเทศอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อทดแทนสกุลเงินท้องถิ่นเมื่อต้องทำธุรกรรมมูลค่าสูงๆ อย่างในกัมพูชา มีการใช้ดอลลาร์ควบคู่กับเงินเรียลซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในกรณีเกี่ยวข้องเงินดอลลาร์เศษย่อย หรือจำนวนไม่มาก ไม่เช่นนั้นจะต้องถือ หรือพกแบงก์ท้องถิ่นเป็นฟ่อนๆ