ภาวะสมองเสื่อมทำคนแก่ญี่ปุ่นเสี่ยงจน
ภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นกับชาวญี่ปุ่นมากถึง 5 ล้านคน รัฐบาลประเมินว่าจำนวนนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 7 – 8 ล้านคน คิดเป็น 6 – 7% ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายในปี 2579
แต่องค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประเมินต่ำกว่านั้นว่า ภาวะสมองเสื่อมจะกระทบกับประชากรญี่ปุ่นคิดเป็น 3.8% ภายในปี 2585 แต่ยังคงเป็นตัวเลขสูงสุดในบรรดา 35 ประเทศในกลุ่ม และอยู่เหนือกว่าค่าเฉลี่ย 2.3% ของกลุ่ม
ชาวญี่ปุ่นที่มีภาวะสมองเสื่อมจะถือครองทรัพย์สินประมาณ 215 ล้านล้านเยนในปี 2579 เมื่อเทียบกับ 143 ล้านล้านเยนในปัจจุบัน อ้างอิงจากการประเมินของ Dai – ichi Life Research
บริษัทหลายแห่งในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะต้องดำเนินธุรกิจกับคนที่มีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งครอบครัวอาจกลับมาเพื่อขอให้ยกเลิกธุรกรรม ดร.จิน นารุโมโตะ อาจารย์ผู้สอนวิชาจิตเวช ในมหาวิทยาลัยแพทย์จังหวัดเกียวโตระบุ
โดยผลสำรวจโดยดร.นารุโมโตะและผู้ร่วมวิจัยอีก 3 ท่านพบว่า ประมาณ 30% ของผู้มีภาวะสมองเสื่อมและครอบครัวเคยมีประสบการณ์สูญเงินเพราะอาการของโรค
เจ้าหน้าที่ธนาคารหลายคนระบุว่า พบผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่ไม่สามารถใช้ ATM หรือต้องถามคำถามซ้ำๆ บางคนมีพฤติกรรมที่แปลกไป กล่าวหาพนักงานว่าเป็นขโมย หรือแม้แต่มีท่าทีก้าวร้าวรุนแรง
ภาวะสมองเสื่อมมีความเชื่อมโยงกับอายุ ภายในปี 2579 คาดการณ์ว่าประมาณ 31% ของประชากรชาวญี่ปุ่นจะมีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นอยู่ที่ 84 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในโลก แต่ปัญหาภาวะสมองเสื่อมจะรุนแรงขึ้น
ธนาคารหลายแห่งต้องรับมือกับลูกค้าที่มีภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น เช่น ธนาคารโนมุระ และซูมิโตโม มิตซุย ต่างอบรมพนักงานเกี่ยวกับความปลอดภัยและความยุติธรรมในการติดต่อกับลูกค้า
ในโตเกียว 5 shinkins หรือสถาบันการเงินที่ร่วมมือกัน ได้ร่วมกันจัดตั้ง Shinkin Seinenkouken Support ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อให้บริการคุ้มครองดูแลการเงินแก่ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น
โดยผู้ปกครองได้รับการแต่งตั้งจากศาลในพื้นที่ และช่วยลูกค้าบริหารการเงินอย่างมืออาชีพ พวกเขาทำหน้าที่ในนามของลูกค้าและสามารถยกเลิกสัญญา หรือการซื้อขายได้หากจำเป็น ที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขาช่วยครอบครัวให้เรียนรู้ที่จะรับมือกับโรค และแนะนำบริการสวัสดิการสังคมให้กับพวกเขา
แต่ระบบนี้กลับถูกสั่นคลอน โดยในปี 2553 – 2558 มีรายงานเกือบ 3,000 กรณีที่มีการใช้งานในทางที่ผิด และผู้ปกครองขโมยเงินลูกค้าไปถึง 21,000 ล้านเยน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีการตรวจสอบเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา Shinkin Support มอบหมายให้มีผู้ปกครอง 2 คนต่อลูกค้าแต่ละคน
“ เพราะเรามอบหมายงาน 2 คน ค่าใช้จ่ายเราจึงเพิ่มเป็น 2 เท่าของที่อื่น แต่เราคิดว่านี่เป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่าย” ฮิโทชิ ฮิราโมริ ผอ. Shinkin Seinenkouken Support “ เราคิดว่าเป็นการให้บริการชุมชนมากขึ้น”
Money Forward บริษัทฟินเทคที่ให้บริการเก็บสมุดธนาคารและบริการจัดการทางการเงิน กำลังพัฒนาระบบเตือนบนแอปพลิเคชั่นสำหรับธุรกรรมต้องสงสัย ยกตัวอย่างเช่น หากลูกค้าบางคนซึ่งแทบจะไม่ค่อยถอนเงินเลย อยู่ดีๆ ก็ไปกดเงินที่ตู้ ATM ถึง 7 ครั้งในวันเดียว แอปจะแจ้งเตือนครอบครัวของผู้นั้น โทชิโอ ทาคิ ประธานบอร์ดบริหารของบริษัทระบุ.