สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 14 พ.ย. 65
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.พัทลุง (59 มม.) จ.นครศรีธรรมราช (51 มม.) และ จ.จันทบุรี (46 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,806 ล้าน ลบ.ม. (76%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,993 ล้าน ลบ.ม. (75%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 13 – 16 พ.ย. 65 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.พัทลุง (อ.บางแก้ว เขาชัยสน ปากพะยูน เมืองพัทลุง ป่าบอน และควนขนุน) จ.สงขลา (อ.สิงหนคร ระโนด กระแสสินธุ์ เมืองสงขลา จะนะ ควนเนียง และสทิงพระ) จ.ยะลา (อ.ธารโต กาบัง ยะหา บันนังสตา และเบตง) และ จ.ปัตตานี (อ.ยะหริ่ง)
2. ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำโกลก แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี
3. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve)
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาแก้มลิงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และลงพื้นที่สำรวจแนวทางการเพิ่มศักยภาพบึงบอระเพ็ดในการบริหารจัดการน้ำหลาก ณ บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ก่อนเดินทางไปประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ภาคกลาง ณ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท
สทนช.ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้ในปี 2566-2568 คือการเพิ่มพื้นที่แก้มลิง พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่สาธารณะที่จะช่วยตัดยอดน้ำตอนบนก่อนหลากลงมายังหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอย่างน้อยประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. ภายในปี 66 ซึ่งจะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่สามารถนำมาบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้นอกเหนือจากโครงการ 9 แผนหลักลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ โครงการบางบาล-บางไทร โครงการชัยนาท-ป่าสัก ฯลฯ
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมและมีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจนตามพื้นที่ในการพัฒนาแหล่งน้ำตามศักยภาพ สทนช.จะเป็นเจ้าภาพประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 5 จ. ได้แก่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร และสุโขทัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางดำเนินการหาพื้นที่รับน้ำ รวมถึงการปลี่ยนแปลงงบประมาณ เพื่อเร่งดำเนินการหน่วงน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เร็วที่สุดก่อนถึงฤดูฝนปี 66