ปูตินป้องจับเรือยูเครนถูกกฎหมาย
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินย้ำชัดว่า กองกำลังรัสเซียมีสิทธิที่จะยึดเรือ 3 ลำของยูเครนเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ แสดงท่าทีความเป็นห่วงกับสิ่งที่รัสเซียทำกับพันธมิตรของสหรัฐฯ
ในการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกหลังเกิดเหตุการเผชิญหน้ากันทางทะเลเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูตินระบุว่า เป็นการบงการจากรัฐบาลยูเครนให้เกิดการยั่วยุ
โดยผู้นำรัสเซียระบุว่า เรือของยูเครนบุกรุกเข้ามาในน่านน้ำของรัสเซีย และปฏิเสธที่จะขานรับกับคำขอร้องไม่ให้เรือลาดตระเวนรัสเซียเข้าไปหยุดพวกเขา
“ อะไรที่กองกำลังรัสเซียควรจะทำ ? ” ประธานาธิบดีปูตินกล่าวเมื่อถูกถามเกี่ยวกับเหตการณ์ที่เกิดขึ้นในการประชุมการลงทุนนานาชาติในกรุงมอสโก “ พวกเขาปฏิบัติตามหน้าที่ของทหาร พวกเขาปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อปกป้องพรมแดนของรัสเซีย ถ้าเป็นพวกเขา ก็จะทำแบบเดียวกันกับประเทศของเรา”
รัสเซียและยูเครนกล่าวหากันไปมาอย่างโกรธเคืองตั้งแต่กองทัพเรือรัสเซียยิงเข้าใส่ และเข้ายึดเรือ 3 ลำของยูเครนที่อยู่นอกชายฝั่งไครเมีย
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. หลังจากขู่รัสเซียว่าอาจเป็น “สงครามเต็มรูปแบบ” ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโกแห่งยูเครนลงนามประกาศกฎอัยการศึกเป็นเวลา 30 วันในภูมิภาคที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย ทะเลดำ และทะเลอะซอฟ
ประเทศตะวันตกต่างเข้าข้างยูเครน โดยกล่าวหารัสเซียว่าปิดกั้นการเข้าถึงทะเลอะซอฟอย่างผิดกฎหมาย โดยใช้ประโยชน์จากทั้งสองประเทศ และใช้กำลังโดยปราศจากการให้เหตุผลที่ถูกต้องตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ประธานาธิบดีทรัมป์ขู่จะยกเลิกการพูดคุยกับประธานาธิบดีปูตินในการประชุม G20 ในสัปดาห์นี้ในกรุงบัวโนสแอเรสของอาร์เจนตินาจากเหตุการณ์นี้ โดยทำเนียบขาวระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอันแห่งตุรกีได้พูดคุยกันเกี่ยวกับยูเครน – รัสเซียทางโทรศัพท์ และ “ผู้นำทั้งสองประเทศแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่องแคบเคียร์ช รวมถึงการกักเรือและลูกเรือของยูเครน”
ทั้งนี้ เรือของยูเครน ซึ่งมีเรือลาก 1 ลำและเรือที่ติดตั้งปืน 2 ลำ พยายามที่จะผ่านจากทะเลดำเข้าช่องแคบเคียร์ชเพื่อมุ่งไปทะเลอะซอฟ แต่ถูกปฏิเสธไม่ให้ผ่าน และถูกเรือ 10 ลำของรัสเซียตามไล่ล่าเข้าไปในน่านน้ำสากล
ยูเครนเรียกร้องให้รัสเซียส่งเรือทั้ง 3 ลำคืน และปล่อยตัว 24 ลูกเรือที่ถูกควบคุมตัวเป็นนักโทษในระหว่างการเผชิญหน้ากัน โดยมีการส่งตัวลูกเรือไปที่ศาลในเมือง Simferopol เมืองสำคัญในรัสเซียที่ผนวกรวมกับไครเมีย และมีคำสั่งให้กักตัวก่อนพิจารณาคดีเป็นเวลา 2 เดือน โดยคำสั่งควบคุมตัวมีผลกับลูกเรือ 15 คนเมื่อวันที่ 27 พ.ย. รวมทั้ง 3 คนที่ยังอยู่ในโรงพยาบาล และอีก 9 คนในวันที่ 28 พ.ย.
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 พ.ย.เป็นการประจันหน้าโดยตรงระหว่างยูเครนกับรัสเซีย จากความขัดแย้งที่มีมายาวนานระหว่างยูเครนที่มีต่อรัสเซีย และกลุ่มสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระที่มีรัสเซียหนุนหลังทางตะวันออกของยูเครน มีความกังวลเพิ่มขึ้นว่าจะกลายเป็นเหตุรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 รายเหมือนในปี 2557 และเรียกร้องให้นานาชาติเข้าช่วยระงับกรณีพิพาท
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. กองทัพรัสเซียรายงานว่า รัสเซียจะส่งระบบสกัดอากาศยาน S-400 เข้าประจำการเพิ่มที่ไครเมีย ซึ่งรัสเซียได้พื้นที่มาจากยูเครนและผนวกรวมเข้ากับรัสเซียในปี 2557
สหภาพยุโรปออกโรงประณามปฏิบัติการของรัสเซียในครั้งนี้ แต่หลังจากผ่านไปแล้ว 3 วัน ยังคงตกลงกันไม่ได้ในมาตรการที่ขู่ว่าจะมีการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่
ขณะเดียวกัน รมว.กระทรวงต่างประเทศ เซอร์เก ลาฟรอฟ แห่งรัสเซียกล่าวหาสหรัฐฯและสหภาพยุโรปว่าสนับสนุนให้ท้ายยูเครน
“ ผมคิดว่า นี่สะท้อนแนวโน้มของทางวอชิงตันที่จะตามใจกับทุกวิถีทางของยูเครน และยุยงให้เกิดท่าทียั่วยุ” รมว.ลาฟรอฟ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในนครเจนีวา
ทั้งนี้ รัสเซียชี้ว่า การยั่วยุของยูเครนเป็นไปเพื่อช่วยสนับสนุนฐานคะแนนเสียงของประธานาธิบดีโปโรเชนโก ซึ่งกำลังเผชิญกับการต่อสู้ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดียูเครนในเดือนมี.ค.ปีหน้า.