สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 ต.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิลดลงเล็กน้อย โดยภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง ภาคใต้ตอนล่าง มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี (66 มม.) จ.นครศรีธรรมราช (64 มม.) และ จ.พัทลุง (64 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 31 ต.ค. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,032 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนบนแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเช่นกัน โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตราประมาณ 1,878 ลบ.ม./วินาที
สถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี 31 ต.ค. 65 สถานีวัดน้ำท่า M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 4,020 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับในลำน้ำมีแนวโน้มลดลง คาดว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูลจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางเดือน พ.ย. 65
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 68,396 ลบ.ม. (83%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 60,186 ล้าน ลบ.ม. (84%) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 19 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง ขุนด่าน บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทร และบึงบระเพ็ด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เร่งลดพื้นที่น้ำท่วมให้กลับสู่ภาวะปกติ
วานนี้ (30 ต.ค. 65) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และสมุทรสาคร เพื่อติดตามเร่งรัดแผนการระบายน้ำ รวมถึงแก้ไขปัญหาอุปสรรค จุดที่เป็นช่องโหว่ต่างๆ เพื่อให้การระบายน้ำที่ยังท่วมขังในหลายพื้นที่ระบายลงสู่แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยาและออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น
ตั้งแต่บริเวณประตูระบายน้ำคลองสระ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ซี่งได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับกรมชลประทาน และตามแนวคลองพระยาบรรลือ ประตูระบายน้ำปากคลองขุดใหม่ ประตูระบายน้ำลากฆ้อน และประตูระบายน้ำปากคลองขุนศรี อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องสูบน้ำ บริเวณประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี พร้อมเดินทางไปตรวจสอบการทำงานเครื่องผลักดันน้ำ
ของกองทัพเรือ บริเวณสะพานพุทธมณฑลสาคร อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พร้อมประสานขอให้กองทัพเรือเพิ่มจุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล พร้อมทั้งได้เร่งการระบายน้ำออกจากทุ่งฝั่งตะวันตกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในห้วงเวลาที่ระดับน้ำทะเลลดลงต่ำสุด และระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาต่ำกว่าระดับน้ำในทุ่ง ขณะเดียวกัน ได้มีการรับน้ำเข้าทางฝั่งตะวันออกเพิ่มขึ้นเพื่อแบ่งเบาปริมาณน้ำฝั่งตะวันตก เช่น ปรับเพิ่มการรับน้ำเข้าผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ สู่คลองชัยนาท-ป่าสัก และรับน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้เร็วมากขึ้นด้วย สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะนี้ที่ยังต้องเฝ้าจับตาและเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงอาจจะส่งผลให้บางพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำได้รับผลกระทบบ้างโดยเฉพาะจุดฟันหลอและพื้นที่นอกคันซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการป้องกันและลดกระทบแล้ว
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 31 ต.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และสมุทรสาคร เพื่อติดตามเร่งรัดแผนการระบายน้ำ รวมถึงแก้ไขปัญหาอุปสรรค จุดที่เป็นช่องโหว่ต่างๆ เพื่อให้การระบายน้ำที่ยังท่วมขังในหลายพื้นที่ระบายลงสู่แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยาและออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิลดลงเล็กน้อย โดยภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ประกอบกับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง “นัลแก” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนมีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งมณฑลกวางตุ้งประเทศจีนในระยะต่อไป โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 68,396 ล้าน ลบ.ม. (83%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 60,186 ล้าน ลบ.ม. (84%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 5,045 ล้าน ลบ.ม. (93%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,165 ล้าน ลบ.ม. (62%) ฅ
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำ 20,736 ล้าน ลบ.ม. (83%) โดยเขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก
4. สถานการณ์น้ำท่วม
สถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันมี 24 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 4 จังหวัด พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคกลาง 9 จังหวัด ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และสระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี หนองบัวลําภู และชัยภูมิ ภาคใต้ 1 จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์