พายุฝุ่นถล่มออสเตรเลีย ท้องฟ้าเปลี่ยนสี
พายุฝุ่นขนาดยักษ์โถมเข้าถล่มคลุมชุมชนทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย จนท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีส้ม และทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ทางการประกาศเตือนให้ประชาชนระวังสุขภาพในนครซิดนีย์ เนื่องจากรัศมีของพายุฝุ่นกินวงกว้างถึง 500 ก.ม.เข้ามาถึงเมืองและทำให้เที่ยวบินต้องออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนด
ขณะที่หลายภูมิภาคอื่นๆในนิวเซาธ์เวลส์ก็มีทัศนวิสัยที่ย่ำแย่เช่นกัน
กรมสุขภาพของรัฐนิวเซาธ์เวลส์ออกประกาศเตือนว่า ฝุ่นขนาดเล็กสามารถแทรกซึมเข้าไปในปอด และแนะนำให้ผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจควรอยู่แต่ในบ้าน เนื่องจากพายุฝุ่นจะยังคงฟุ้งกระจายอยู่จนถึงวันที่ 23 พ.ย.
“ ฝุ่นในพายุฝุ่นมีขนาดเล็กมากและสามารถแทรกซึมเข้าไปลึกถึงปอดของคุณ และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงเป็นห่วงสุขภาพของประชาชน ” Richard Broome ผู้อำนวยการกรมอนามัยสิ่งแวดล้อมกล่าว
“ ฝุ่นอาจทำให้เกิดปัญหากับหัวใจและปอด และทำให้เกิดอาการแสบตาและไอ หากเป็นไปได้ การต้องอยู่ในสภาพอากาศเช่นนี้ ระบบกรองอากาศสามารถช่วยลดละฝุ่นละอองในอากาศได้ ”
ทางการระบุว่า พายุเกิดจากลมแรงที่พัดเอาดินแห้งๆ ลอยขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ปัญหายิ่งเลวร้ายขึ้นจากความแห้งแล้งที่ส่งผลกระทบทั่วทั้งรัฐนิวเซาธ์เวลส์ตั้งแต่เดือนส.ค. อ้างอิงจากกรมอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลีย
เจ้าหน้าที่พยาบาลให้ข้อมูลว่าประชาชนหลายสิบรายมีปัญหากับระบบทางเดินหายใจ หรือมีอาการของโรคหอบเมื่อวันที่ 22 พ.ย. แต่ยังไม่มีความชัดเจนถึงจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝุ่น
ในซิดนีย์ ฝุ่นทำให้ท้องฟ้ามืด และทำให้คุณภาพอากาศเข้าขั้นอันตรายในบริเวณชานเมือง
ขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเตือนให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน โดยเฉพาะเด็กๆ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาในการหายใจ
ผู้อาศัยรายหนึ่งใน Broken Hill ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ห่างจากซิดนีย์ไปทางตะวันตกประมาณ 1,100 ก.ม. ระบุว่าฝุ่นลอยอ้อยอิ่งอยู่นานหลายชั่วโมงในวันที่ 21 พ.ย. “ คุณเดินออกไปข้างนอก และฝุ่นลอยเข้ามาอยูในตาของคุณ และรู้สึกว่ามีทรายติดอยู่ตลอด ” Matt Whitelum กล่าวกับผู้สื่อข่าว
“ ลมก็แรงมากจนคุณแทบปลิวไปตามประตุูรถที่เปิดกว้าง หรือไม่อย่างนั้นมันก็กระแทกกลับมาที่หน้าคุณ ”
พายุฝุ่นในซิดนีย์ครั้งนี้ ทำให้มีการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์พายุฝุ่นที่เคยปกคลุมเมืองนี้อย่างหนาทึบเมื่อปี 2552 โดยในครั้งนั้นพายุทำให้ประชาชนหลายร้อยคนในเมืองประสบปัญหาการหายใจ และส่งผลกระทบทำให้เที่ยวบินล่าช้า.