ประชุมเอเปกจบแบบไม่มีแถลงการณ์ร่วม
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในรอบ 25 ปีของการประชุม กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก หรือ เอเปก ที่จบลงเมื่อวันที่ 18 พ.ย.โดยที่บรรดาผู้นำไม่สามารถตกลงที่จะออกแถลงการณ์ร่วมอย่างเป็นทางการ
โดย 21 ผู้นำชาติเอเปกในการประชุมประจำปีในปาปัว นิวกินีเห็นพ้องกัน ยกเว้นจีน แหล่งข่าวในการประชุมให้ข้อมูลกับสื่อ CNN
นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดแห่งแคนาดายืนยันเมื่อช่วงเย็นวันที่ 18 พ.ย.ว่า การไม่เห็นพ้องด้านการค้าทำให้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้
“ มีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันในบางองค์ประกอบที่เฉพาะเจาะจง” นายกฯทรูโดกล่าว
จีนอาจมีความกังวลในเรื่องกรอบที่เจาะจงเกี่ยวกับวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม อ้างอิงจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯที่เกี่ยวข้องในการเจรจา โดยจีนและสหรัฐฯกำลังอยู่ในภาวะตึงเครียดทางการค้าและมีมาตรการภาษีโต้ตอบกันนับแสนล้านดอลลาร์
เจ้าหน้าที่ระบุว่า ข้อความบรรทัดที่เป็นปัญหามากที่สุดสำหรับจีนคือ“ เราเห็นพ้องที่จะต่อสู้กับการกีดกันทางการค้า รวมถึงวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม”
“ พวกเขาดูจะคิดว่า ‘วิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม’ เป็นคำที่เลือกใช้เฉพาะ” เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูล “ ดูเหมือนว่าจีนจะไม่มีเจตนาที่แท้จริงในการที่จะมีมติร่วมกัน”
“ นี่ย้ำถึงจุดจบของวิสัยทัศน์ทางการค้าของเอเปก” Euan Graham ผู้อำนวยการบริหารของ La Trobe Asia ที่มหาวิทยาลัย La Trobe ในออสเตรเลีย โพสต์บนทวิตเตอร์ โดยเสริมว่า เอเปกเป็นการประชุมภูมิภาคแบบไร้ประโยชน์
สื่อ Global Times ของจีน ซึ่งเป็นสื่อที่รัฐบาลแทรกแซงและส่งเสริมมุมมองสายเหยี่ยวอยู่บ่อยครั้ง ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 19 พ.ย.
ว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรที่การประชุมสุดยอดเอเปกจบลงโดยไม่มีแถลงการณ์ร่วมเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี โดยในบทความยังกล่าวหารัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่เผยแพร่เรื่องเท็จเกี่ยวกับการที่จีนละเมิดกฎขององค์กรนานาชาติอย่าง องค์การการค้าโลก (WTO)
“ เป็นอาการหลงผิดของผู้มีอำนาจในสหรัฐฯที่คิดว่า จีนได้ประโยชน์มากที่สุดในระบบการค้าสากล ทำให้กล่าวโทษจีนอย่างผิดๆ ทั้งที่เป็นปัญหาของตัวเอง จีนพัฒนาประเทศขึ้นมาจากการทำงานหนัก ไม่ใช่ฉกฉวยความได้เปรียบจากระบบสากล” บทความระบุคาดการณ์ว่าผู้นำสหรัฐฯและจีนจะพบกันในการประชุมกลุ่มประเทศ G-20 ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นที่อาร์เจนตินาในสัปดาห์หน้า
ที่จริงแล้ว ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ชาติในแปซิฟิกตระหนักได้คือ พวกเขาพบว่า มีสองมหาอำนาจที่ใช้เงินงบประมาณอย่างมหาศาลเพื่อช่วงชิงการแผ่อิทธิพลเข้ามาในมหาสมุทรที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ
โดยรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์แห่งสหรัฐฯระบุว่า จะร่วมมือกับออสเตรเลียในการช่วยเหลือปาปัว นิวกินีสร้างฐานทัพเรือบนเกาะ Manus (ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ) หลังจีนเป็นผู้พัฒนาท่าเรือน้ำลึก
นักวิเคราะห์มองว่า การปรากฎตัวของจีนบนเกาะ Manus ส่งผลกระทบกับศักยภาพในการควบคุมของตะวันตกในแปซิฟิก ขณะที่ทำให้จีนมีฐานที่ตั้งใกล้กับฐานทัพสหรัฐฯ ในเกาะกวม
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ได้เผยแผนมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่จะนำไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตมาสู่ปาปัว นิวกินี ถือเป็นการตอบโต้นโยบาย Belt and Road ของจีน
“ แนวความคิดอะไรก็ตามที่มาจากสหรัฐฯ จีน หรือออสเตรเลีย ไม่ได้แปลว่าจะเป็นแนวคิดเดียวกันกับของปาปัว นิวกินี” Wera Mori รมว.กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของปาปัว นิวกินีให้สัมภาษณ์กับสื่อรอยเตอร์ทางโทรศัพท์
“ เรามีสถานการณ์ของเราเอง และลำดับความสำคัญที่เรามุ่งมั่น”.