“สรรพสามิต” ไฟเขียว “ฮอนด้า” เข้าโครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้า
สรรพสามิตเดินหน้าสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพิ่ม บจก. ไทยฮอนด้า เข้าพอร์ตอีก 1 ราย
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่าวันนี้ (25 ต.ค. 2565) กรมสรรพสามิตได้ลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เพิ่มอีก 1 ราย คือ บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์จากภาษีสรรพสามิตอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 1 และเงินอุดหนุน จำนวน 18,000 บาทต่อคัน สำหรับการนำเข้ารถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ในปี 2565 – 2566 และผลิตรถจักรยานยนต์ BEV ในปี 2565 – 2568 โดยรถจักรยานยนต์ BEV ที่เข้าร่วมมาตรการฯ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. ต้องเป็นแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออน
2. มีความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 KWh ขึ้นไป หรือมีระยะทางที่วิ่งได้ตั้งแต่ 75 กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ตามมาตรฐาน WMTC (World Motorcycle Test Cycle) ตั้งแต่ Class 1 ขึ้นไป
3. ต้องใช้ยางล้อที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก. 2720-2560 (UN Reg.75) หรือที่สูงกว่า (UN Reg.75)
4. ต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม เลขที่ มอก. 2952-2561 (UN Reg.136) หรือที่สูงกว่า
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความประสงค์ผลิตรถจักรยานยนต์ BEV ในประเทศและขอรับสิทธิ จำนวน 1 รุ่น คือ รุ่น BENLY e ในอีก 6 เดือนต่อจากนี้ ในขั้นต้นคาดว่าจะมีการผลิตประมาณ 200 คัน
จากมาตรการฯ ดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้าลงนามในข้อตกลงกับ กรมสรรพสามิตแล้ว จำนวน 10 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์ จำนวน 7 ราย และรถจักรยานยนต์ จำนวน 3 ราย โดยคาดว่าจะมียอดจองและยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ขอรับสิทธิตามมาตรการฯ ภายในสิ้นปี 2565 รวมกันทั้งสิ้นกว่า 25,000 คัน และจะมีผู้ประกอบอุตสาหกรรม/ผู้นำเข้ารถยนต์ที่สนใจทยอยเข้าร่วมลงนามเพิ่มขึ้นอีกในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งจะส่งผลให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ BEV มีราคาลดลงและสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภค หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น “มาตรการนี้จะช่วยส่งผลดีทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นการสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักที่กรมสรรพสามิตให้ความสำคัญและจะขับเคลื่อนอย่างจริงจังต่อจากนี้”อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวทิ้งท้าย