สหรัฐฯคว่ำบาตร 17 คนร่วมฆ่าคาชอกกี
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. รัฐบาลสหรัฐฯประกาศการคว่ำบาตรตามกฎหมาย Magnitsky Act กับ 17 คนที่มีส่วนร่วมในการสังหารคอลัมนิสต์ชื่อดังของวอชิงตันโพสต์ – จามาล คาชอกกี
การคว่ำบาตรบุคคลทั้ง 17 คน รวมถึงกงสุล นายพลโมฮัมเหมด อลอไตบี ผู้มีอำนาจกำกับดูแลสถานกงสุลซาอุดิอาระเบียในกรุงอีสตันบุล ประเทศตุรกี ซึ่งเป็นสถานที่ลงมือสังหารคาชอกกี รวมถึงมาเฮอร์ มูเทรบ เจ้าหน้าที่อาวุโสของซาอุฯ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนให้ความร่วมมือในการฆาตกรรมครั้งนี้ด้วย
“ บุคคลเหล่านี้ ซึ่งได้ร่วมกระทำการสังหารนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง ผู้ใช้ชีวิตและทำงานในสหรัฐฯอย่างโหดร้าย ต้องเผชิญกับผลที่ตามมาของการกระทำของพวกเขา ” Steven Mnuchin รมว.กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ “ สหรัฐฯยังคงทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ความจริงทั้งหมด และจะยังคงรายงานถึงแต่ละคนที่เราพบว่ามีความผิดจริง เพื่อผดุงความยุติธรรมให้กับคู่หมั้นของคาชอกกี บุตรของเขา และครอบครัวที่เขาทิ้งไว้เบื้องหลัง ”
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน อัยการซาอุฯระบุว่า จะเสนอโทษประหารชีวิตกับแต่ละบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการฆาตกรรม และตั้งข้อหาอีก 6 คนซึ่งจะได้รับโทษเบาลง โดยสำนักงานอัยการระบุว่า คาชอกกีถูกสังหารหลังมีเหตุทะเลาะวิวาทในสถานกงสุล เขาถูกฉีดยากล่อมประสาท หลังถูกสังหารโหด ร่างกายของเขาถูกผ่าแยกชิ้นส่วนและส่งให้ผู้ประสานงานในท้องถิ่น อ้างอิงจากสำนักอัยการ
ทั้งนี้ การหายตัวไปของคาชอกกีเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ส่งผลกับความสัมพันธ์ในหลายประเทศ โดย ส.ส.ในสภาคองเกรสสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการขับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมัน ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับจาเรด คุชเนอร์ บุตรเขยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว โดยคาชอกกีเป็นคอลัมนิสต์ที่มีอิทธิพลและมักจะวิจารณ์ราชวงศ์ของซาอุฯ อยู่บ่อยครั้ง
หลังจากเขาถูกสังหาร ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับซาอุฯ บรรดานักลงทุนผู้ทรงอิทธิพลถอนตัวไม่เข้าร่วมการประชุมการลงทุนประจำปีของซาอุฯ ที่กรุงริยาดเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการตั้งคำถามถึงความเกี่ยวข้องของมกุฎราชกุมารซาอุฯ กับการฆาตกรรมคาชอกกี มีทั้งผู้บริหารธนาคารและบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งที่ถอนตัว แม้แต่รมว.กระทรวงการคลังสหรัฐฯเอง ก็ขอถอนตัวจากการประชุมเช่นกัน
ขณะที่ทางซาอุฯยังคงยืนยันว่ามกุฎราชกุมารไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้สังหารคาชอกกี แต่ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอันแห่งตุรกีมีบทความลงในวอชิงตันโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ระบุว่า การสังหารคาชอกกีเป็นการสั่งการจาก “บุคคลระดับสูงสุด ” ของรัฐบาลซาอุฯ แต่ไม่ได้เอ่ยพระนามของมกุฎราชกุมารโดยตรง โดยเขาระบุว่าเขาไม่เชื่อว่าเป็นคำสั่งสังหารจากกษัตริย์ซัลมาน
Mevlut Cavusoglu รมว.กระทรวงต่างประเทศระบุว่า กระบวนการของทางอัยการในการกล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้องในการฆาตกรรมคาชอกกีดำเนินไปในทางบวก แต่ “ไม่น่าพอใจ” ขณะที่ทางตุรกีเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายของตุรกี.