ราคาน้ำมันสหรัฐฯดิ่งเหว
ราคาน้ำมันในตลาดดิ่งร่วงลงอย่างแรงจากที่เคยพุ่งขึ้นมาระยะหนึ่ง
โดยราคาน้ำมันสหรัฐฯปรับลดลงอีก 1.6% ลงมาอยู่ที่ 60.67 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ดิ่งร่วงลงสู่แดนลบ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันร่วงลงมาถึง 21% จากที่เคยพุ่งทะยานสูงสุดในรอบ 4 ปีไปอยู่ที่ 76.41 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา
การปรับลดของราคาน้ำมันครั้งล่าสุดเป็นการปรับลดครั้งที่ 9 ติดต่อกัน และเป็นราคาปิดตลาดต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน
ราคาน้ำมันผันผวนลงอย่างน่าประหลาดใจ หลังจากเมื่อ 2 – 3 เดือนก่อน นักวิเคราะห์หลายรายออกมาเตือนว่าราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน
โดยราคาน้ำมันที่ดิ่งเหวเป็นผลมาจากหลายปัจจัย
ปัจจัยแรกคือ การเติบโตทั่วโลกที่มีความกลัวจากตลาดหุ้นที่ดิ่งแรงเช่นกันส่งผลกระทบมาถึงโภคภัณฑ์ บรรดานักลงทุนกังวลว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจะลุกลามเข้ามากลืนกินดีมานด์ด้านพลังงาน
“ ไม่น่าเชื่อว่าความเชื่อมั่นจะเปลี่ยนเร็วขนาดนี้ ” ไมเคิล ทราน ผอ.ฝ่ายกลยุทธ์พลังงานทั่วโลกของ RBC Capital Markets ให้ความเห็น
“ ความกลัวการชะลอตัวทางเศรษฐกิจกำลังมีชัยเหนือการคาดการณ์ ”
และแม้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะฟื้นตัวดีดกลับขึ้นมาแล้ว แต่ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะนักลงทุนน้ำมันผิดหวังการตัดสินใจของรัฐบาลทรัมป์ที่ให้การยกเว้นชั่วคราว ทำให้อินเดีย จีน และอีกหลายประเทศยังคงซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกได้
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปเพื่อการบรรเทาผลกระทบจากการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งมีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา “ เราจะยอมให้น้ำมันบางส่วนออกไปสู่ประเทศที่มีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ เพราะผมไม่อยากดันให้ราคาน้ำมันพุ่งไปแตะ 100 – 150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ง่ายมาก” โดยทรัมป์คุยว่า ราคาน้ำมัน “ลดลงมาอย่างยั่งยืนตอนนี้เพราะผม”
อีกปัจจัยที่ฉุดราคาน้ำมันลงคือ การที่ซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรพลังงานในเท็กซัสเพิ่มเพดานการผลิตน้ำมัน ปริมาณน้ำมันสหรัฐฯที่นำโดย Permian ฺBasin ในเวสต์เท็กซัส หนุนให้มีปริมาณน้ำมันเกิน 11 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนส.ค.เป็นครั้งแรก ปัจจุบัน สหรัฐฯสามารถแซงหน้ารัสเซียและซาอุฯขึ้นนำเป็นประเทศผุ้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก
ปริมาณการผลิตที่ท่วมท้นช่วยดันราคาน้ำมันในสต็อก สินค้าคงคลังน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯพุ่งทะยานขึ้นถึง 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ก่อน และตอนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีถึง 3% อ้างอิงจากข้อมูลของรัฐบาลกลาง
อย่างไรก็ตาม ทรานจาก RBC ระบุว่าดีมานด์ทางกายภาพสำหรับน้ำมันยังคงแข็งแกร่ง
“ มันไม่แย่ขนาดนั้น มันไม่ได้ประกันว่าจะลดลง 20% ” เขากล่าว
ดัชนี S&P 500 ภาคพลังงานลดลง 2% ขณะที่ ConocoPhilips (COP) Apache (APA) และ EOG Resources (EOG) ปรับลดลงกว่า 3%
แต่นักวิเคราะห์หลายรายเตือนว่า การดิ่งร่วงของราคาน้ำมันอาจเป็นช่วงสั้นๆ Goldman Sachs และ RBC คาดว่าราคาน้ำมันจะฟื้นขึ้นหากการยกเว้นจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านให้ประเทศอื่นถูกยกเลิก และนักวิเคราะห์กังวลเพิ่มขึ้นว่า ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐฯมีพื้นที่จำกัดที่จะรับมือกับอาการช็อกในอนาคต
ซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจนเกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ Permian Basin ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วขาดท่อน้ำมัน อาการติดขัดเป็นคอขวดในรัฐเท็กซัสยังไม่มีการจัดการให้เรียบร้อยจนถึงครึ่งปีหลังของปี 2562.