บสย. ชู 5D ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ เร่งช่วย SMEs ปี 2566
บสย. ร่วมฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ ปี 2566 ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ยืนได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน เศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของ COVID-19 และ ดิจิทัลเทรนด์ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ และโลกการเงิน บสย. พร้อมช่วย SMEs ด้วยเกราะคุ้มครอง เพื่อพยุงตัวเองให้ไปต่อได้
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิด 5 เมกะเทรนด์ หรือ 5D เกราะป้องกัน ร่วมฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ ช่วย SMEs ปี 2566 ทั้งช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังกลับมาฟื้นตัว ที่เริ่มกลับมาในกลุ่มธุรกิจบางประเภท แต่วิกฤตซ้ำซ้อน ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเปราะบาง ที่ไม่สามารถผ่านพ้นหรือก้าวข้ามวิกฤตได้
“สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไร ? ให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเกราะคุ้มกันที่แข็งแกร่ง”
บสย. พร้อมเป็นเกราะป้องกัน และเป็นพี่เลี้ยงให้ความช่วยเหลือ SMEs ให้ยืนได้และไปต่ออย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด SMEs ต้องรอด และอยู่ต่อเพื่อเป็นเกราะคุ้มครองประเทศ
5 เมกะเทรนด์ หรือ 5D ที่ บสย. จะนำมาใช้เป็นกลยุทธ์หลัก และเป็นเดรื่องมือสำคัญในการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ตลอดปี 2566 คือ
1.Digital & Financial Literacy คือ การให้ความรู้ทางการเงิน หนึ่งในบทบาทและภารกิจสำคัญของ บสย. เติมความรู้ใหม่ๆ รอบด้าน ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A. Center โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ด้านดิจิทัล ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ องค์ความรู้เหล่านี้กำลังเป็นที่ต้องการในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อย ที่ต้องการสร้างฐานธุรกิจด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล แต่ยังขาดองค์ความรู้ทางการเงิน ซึ่ง บสย. F.A. Center จะเข้ามาช่วยเติมเต็มความรู้ ในเรื่องทุนที่เป็น 3 ปัจจัยหลักการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน คือ 1.ต้นทุนที่แท้จริง 2.กำไร-ขาดทุน 3.เข้าใจและรู้ปัญหาที่แท้จริงที่มาของการ ”ขาดทุน” ว่าเกิดจากอะไร
2.Digital Wallet ที่มาแรงและเป็นกระแสที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี เป็นโมเดลและแพลตฟอร์มที่รัฐบาลนำร่องที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโมเดลการจับจ่ายที่สามารถเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ให้กับภาคประชาชน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศ การโอนเงิน จ่ายเงินผ่าน Wallet ถือเป็น Auto Pilot ที่ต่อยอดการทำธุรกรรมอื่นๆ ให้กับภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ SMEs โดยนำ DATA มาวิเคราะห์กำไร-ขาดทุนได้
3.Digital Lending การเข้าถึงเงินทุน หรือ Funding ผ่านระบบดิจิทัล ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเข้าสู่ E-market Place บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งเบื้องหลังของแพลตฟอร์มเหล่านี้คือ ธนาคาร ผลดีคือ ผู้ที่ทำธุรกิจจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายและเหมาะสม ไม่ต้องไปกู้นอกระบบ และ บสย. กำลังวางตัวเองให้เป็น Funding Gateway เมื่อ SMEs เข้ามาหาที่ บสย. เราจะทำหน้าที่แต่งตัวให้ SMEs เพื่อการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
4. Digital Credit Guarantee การค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งเป็นบทบาทหลักของ บสย. ด้วยปัจจุบัน SMEs มีความหลากหลาย เจนเนอเรชัน เช่น สตาร์ทอัพ ที่อาจยังไม่เข้าใจเรื่องของการขอสินเชื่อว่าต้องมีการเตรียมตัวอย่างไร ซึ่งมีจำนวนมากที่นำสินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อบัตรเครดิต มาหมุนในการทำธุรกิจ บสย. ต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ประกอบการใหม่ และนำพาไปสู่การขอสินเชื่อที่ถูกต้อง และหาทางออกที่เหมาะสมเมื่อธุรกิจเริ่มมีปัญหา
5.D ต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน สู่ Net Zero ภายใต้ BCG Model (BIO-Circular-Green Economy) ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่า โลกของการทำธุรกิจในปัจจุบันมุ่งไปที่สิ่งแวดล้อม SMEs ต้องปรับตัว การรักษาทรัพยากร การลดคาร์บอนเครดิต เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สอดคล้องกับผู้บริโภคที่แสวงหาสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น SMEs ต้องหาที่ปรึกษา ซึ่ง บสย. พร้อมเป็นทีมที่ปรึกษาทางการเงินให้กับภาคธุรกิจ ที่กำลังก้าวสู่ธุรกิจสีเขียว สามารถให้คำแนะนำ พร้อมด้วยผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ที่ช่วยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจสีเขียว ควบคู่ไปกับการยกระดับองค์กรสู่ BCG Model
บสย. เชื่อว่าทั้ง 5D เป็นการแก้ปัญหาสภาพคล่องของ SMEs เพราะในโลกยุคใหม่ ปฎิเสธและหนีไม่พ้นกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น การปรับตัวและความเข้าใจทางด้านการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญ บสย. พยายามใส่มุมมองใหม่ ๆ ให้ SMEs พร้อมนำพาไปสู่การเข้าถึงสินเชื่อที่ถูกต้อง
ปรึกษาและสอบถามได้ที่ บสย. F.A. Center 0–2890–9999