สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 ต.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีลมแรง และมีฝนบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ภูเก็ต (130 มม.) จ.นครสวรรค์ (43 มม.) และ จ.กาฬสินธุ์ (40 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศฉบับที่ 50/2565 เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำท่าจีน ในช่วงวันที่ 13 – 16 ต.ค. 65 จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
1. ลำห้วยกระเสียว บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ต.แจงงาม และหนองโพธิ์ อ.หนองหญ้าไซ ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง ต.กระเสียว และหนองสะเดา อ.สามชุก ต.หนองกระทุ่ม ป่าสะแก วังศรีราช หัวเขา และบ่อกรุ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นและล้นตลิ่งประมาณ 0.10 – 0.15 เมตร
2. แม่น้ำท่าจีน บริเวณตั้งแต่ อ.สามชุก ศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี บางปลาม้า และสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อ.บางเลน นครชัยศรี และสามพราน จ.นครปฐม อ.กระทุ่มแบน และเมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15 – 0.30 เมตร
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 67,656 ลบ.ม. (82%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 59,710 ล้าน ลบ.ม. (83%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 24 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง ขุนด่าน คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทร บึงบระเพ็ด และหนองหาร
กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ พายุดีเปรสชัน “เซินกา” (SONCA) ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง (เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 65 เวลา 13.00 น.) ส่งผลทำให้มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง กับมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 34 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำปาง พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ และตาก ภาคกลาง 12 จังหวัด ได้แก่ จ.ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม และนนทบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ จ.หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และกาฬสินธุ์ และภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดังนี้
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ตรวจสอบการรั่วของแนวป้องกันน้ำท่วมดำเนินการ เรียงกระสอบทรายป้องกันในจุดที่เป็นช่องเปิดและฟันหลอ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ในพื้นที่เขตบางกอกน้อย และเขตบางพลัด
กรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จ.สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา
กอนช. เน้นย้ำให้หน่วยงานติดตามสานการณ์น้ำและสถาพอากาศอย่างใกล้ชิด และปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัย