สรรพากรมุ่งสู่ “องค์กรคุณธรรม”
กรมสรรพากรชู “องค์กรคุณธรรม” พร้อมเดินหน้าเข้มข้นขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล เผย Data Analytics & AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี จน 8 เดือนแรกทะลุเป้า มั่นใจแม้ 4 เดือนที่เหลือ เศรษฐกิจไม่สู้ดี แต่จะเก็บภาษีตามเป้า 2 ล้านล้านบาท คาดโทษแก๊งเลี่ยงภาษี รอบนี้หนียากแน่
HAS ต่อย่อของคำเต็ม Honesty (ซื่อสัตย์) Accountability (Accountability) และ Service mind (มอบใจบริการ) ที่กรมสรรพากร ภายใต้การของอธิบดีคนปัจจุบัน ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประกาศเจตนารมณ์ต่อการนำพาองค์กรและบุคลากร ก้าวไปสู่ความเป็น “อัตลักษณ์” (ตัวตนที่แท้จริง) ภายใต้นโยบาย “กรมสรรพากรคุณธรรม” ระหว่างการร่วมประชุม/สัมมนา ผู้บริหารกรมสรรพากร กว่า 200 คน จากทุกพื้นที่ของประเทศไทย ณ ร.ร.เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว กรุงเทพฯ เมื่อช่วงสายวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา
“การจัดประชุมสัมมนาผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วราชอาณาจักร ในวันนี้ นอกจากจะมีการมอบนโยบายให้ผู้บริหารกรมสรรพากรแล้ว ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชน มาถ่ายทอดประสบการณ์การขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรม แลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำ Digital Transformation และ Data Analytics & AI รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่อง Smart Office Smart People เพื่อจุดประกายความคิดให้กับบุคลากรของสรรพากรให้สามารถดำเนินการยกระดับประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมและการบริการประชาชนที่ทันสมัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นกรมสรรพากรดิจิทัลอย่างแท้จริง” อธิบดีกรมสรรพากรระบุ
ไม่เพียงแค่นั้น เขายังเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ D2RIVE (Digital Transformation, Data Analytics, Revenue Collection, Innovation, Value และ Efficiency) ผ่านคณะผู้บริหาร ด้วยหวังจะนำระบบดิจิทัล ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และนวัตกรรมใหม่ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรอย่างเข้มข้น
โดยที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ D2RIVE ที่สำคัญ อาทิ การเชื่อมโยงข้อมูลค่าลดหย่อนภาษีกับหน่วยงานต่างๆ เช่น เบี้ยประกันสุขภาพ เงินสะสม กบข. และหน่วยรับบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ e-donation เพื่อให้ผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ด้วยตัวเองผ่านระบบ My Tax Account
นอกจากนี้ ยังเร่งพัฒนา Application RD Smart Tax และเปิดระบบ Open API เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนา Application ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงนำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ มาพัฒนาเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงของผู้เสียภาษี (Risk Based Audit)
ดร.เอกนิติ ย้ำว่า การดำเนินการครั้งนี้ มีส่วนยกระดับให้บริการประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ตุ.ค.61 – พ.ค.62) สามารถเก็บภาษีได้ถึง 1.22 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณถึง 38,015 ล้านบาท
“ยอมรับว่าเราโชคดีที่การจัดเก็บรายได้ช่วงแรกๆ เกินเป้าหมายเยอะมาก ส่วนหนึ่งเพราะมีการนำระบบและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี แม้สภาพเศรษฐกิจ การเมือง และต่างประเทศ (สงครามการค้า) จะทำให้เศรษฐกิจของไทยและโลกมีปัญหาบ้าง โดยเฉพาะการส่งออกและนำเข้าที่ลดลง แต่มั่นใจว่า สิ้นสุดปีงบประมาณนี้ จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าที่ 2 ล้านล้านบาท แม้ในช่วง 4 เดือนจากนี้ เศรษฐกิจอาจไม่สู้ดีนัก”
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวอีกว่า จากนี้จะมีโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ D2RIVE ที่สำคัญ เช่น การเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดทำระบบการเสียอากรแสตมป์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาระบบการออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-tax invoice/e- receipt) การนำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาตรวจจับพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษีอากร (tax fraud) และเครือข่ายใบกำกับภาษีปลอม และการจัดตั้ง Tax Innovation Lab เพื่อศึกษาการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการให้บริการผู้เสียภาษี
สำหรับเป้าหมายในปี 2563 คาดว่า ประมาณการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร น่าจะอยู่ที่ระดับ 2.1-2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเขาเองยอมรับว่า “เหนื่อย” แน่! หากสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และต่างประเทศ ยังมีสภาพเป็นเช่นนี้
ขณะเดียวกันการมาของรัฐบาลใหม่ และ “รมว.คลัง-คนใหม่” ที่เบื้องต้นมีชื่อของ นายอุตตม สาวนายน หน.พลังประชารัฐ “นอนมา” และมาพร้อมกับสารพัดนโยบาย “ซื้อใจประชาชน” ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ฐานะการคลังของรัฐบาล และการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.เอกนิติ ย้ำว่า เรื่องนโยบายเป็นสิ่งที่การเมืองเป็นผู้กำหนดออกมา ในส่วนของกรมสรรพากร ซึ่งถือเป็น “ข้าราชการประจำ” จะต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ และ “จุดอ่อน-จุดแข็ง” ของนโยบายฯ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา เพื่อนำเสนอให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ หากนโยบายออกมาในลักษณะที่ต้องปรับลดภาษี ก็อาจแลกกับการยกเลิกการลดหย่อนที่ไม่จำเป็นออกไป เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องมีรายได้ภาษีมาเพื่อจัดทำงบประมาณแผ่นดิน
สำหรับการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%) นั้น ถึงตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ให้ต้องปรับเพิ่มขึ้นตามที่กฎหมายกำหนด หากพ้นช่วงเวลาของการผ่อนปรน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวพันกับคนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งรายได้ส่วนใหญ่ของกรมสรรพากร กว่าร้อยละ 40 ก็มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงแค่ 1% จะทำให้มีรายได้เพิ่มหรือลดลงมากถึง 70,000 ล้านบาท เลยทีเดียว
“การดำเนินงานเชิงรุก ด้วยการนำระบบ Data Analytics & AI มาใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เสียภาษีครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อผู้เสียภาษีที่ดำเนินการถูกต้องตรงไปตรงมา แต่กับผู้มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษี หรือใช้ใบกำกับภาษีปลอมแล้ว ระบบจะสืบค้นและสามารถบ่งชี้ได้ว่า คนกลุ่มนี้จงใจจะหลบเลี่ยงภาษี จำเป็นที่กรมสรรพากรจะเอาผิดให้ถึงที่สุดต่อไป” อธิบดีกรมสรรพากรย้ำ.