ก.พลังงาน ประกาศความพร้อม เจ้าภาพ “SOME”
กระทรวงพลังงาน ประกาศความพร้อม เจ้าภาพ “SOME” ครั้งที่ 37 เตรียมหารือ 4 แผน 9 ประเด็นความร่วมมือด้านพลังงานระดับภูมิภาค อาสาผู้นำผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมในปี 2562
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมพร้อมสำหรับการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือ SOME ครั้งที่ 37 ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 24-28 มิถุนายน 2562 นี้ ภายใต้แนวคิดหลัก “Advancing Energy Transition through Partnership and Innovation” หรือ “ก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและนวัตกรรมแห่งอนาคต” เพื่อรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ซึ่งจะมีการประชุมในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
“การประชุมครั้งนี้ จะหารือถึงประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญในระดับภูมิภาคที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น อาทิ เป้าหมายด้านการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในอาเซียน คาดว่าจะมีการผลักดันกิจกรรมความร่วมมือด้านพลังงานในอาเซียนให้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการขยายการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า แผนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และนิวเคลียร์ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การริเริ่มโครงการด้านพลังงานใหม่ ๆ ร่วมกับประเทศคู่เจรจา” นายกุลิศ กล่าว
สำหรับการรายงานประเด็นด้านพลังงานที่ประเทศไทยให้ความสำคัญและเป็นผู้นำในการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในปี 2562 (Priority Deliverables) จำนวน 4 ด้าน 9 ประเด็น โดยสรุปดังนี้
ด้านไฟฟ้า ประกอบด้วย การส่งเสริมขยายการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคี (LTMS-PIP phase 1) เพื่อขยายเพดานปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีในอาเซียนระหว่าง ไทย ลาว มาเลเซีย ได้ขยายจาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ การจัดทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้เรื่องการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีในอาเซียนให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น และการจัดทำข้อเสนอแนะด้านการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในโครงข่ายอาเซียน (RE Integration to grid) ร่วมกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีอาเซียน
โดยประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นผู้นำผลักดันให้เกิดโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียนที่สามารถเชื่อมโยงการซื้อขายไฟฟ้าได้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในประเทศอาเซียนในอนาคต
ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ประกอบด้วย การจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็นในตลาดอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน การจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (Lab Test) สำหรับทดสอบประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศในครัวเรือน และการศึกษามาตรการด้านการเงิน เพื่อสนับสนุนโครงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งในปี 2561 ประเทศไทยประสบความสำเร็จ ด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จากเป้าหมายที่วางไว้ร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 21.3 และได้ตั้งเป้าเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ในปี 2563
ด้านพลังงานทดแทน ประกอบด้วย การลงนาม MOU ระหว่าง ศูนย์พลังงานอาเซียน และสถาบันพันธมิตรของอาเซียนเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพอาเซียน และการรายงาน กรณีศึกษาห่วงโซ่อุปทานพลังงานชีวมวลสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย เพื่อนำไปขยายผลปรับใช้ในพื้นที่ที่มีลักษณะเดียวกันในอาเซียน
ด้านก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย การจัดทำข้อเสนอแนะ เรื่อง การศึกษาโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กเพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติ (Small-scale LNG) ภายใต้ผลการศึกษา Gas Advocacy White Paper
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีประเทศคู่เจรจาที่สำคัญกับอาเซียน อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐฯ กลุ่มประเทศความร่วมมือในระดับพหุภาคี ได้แก่ อาเซียนบวกสาม และอาเซียนบวกแปด รวมทั้ง องค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เป็นต้น