สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 14 ต.ค.65
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีฝนน้อย ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.สตูล (103) จ.อุทัยธานี (50) และ จ.กาญจนบุรี (37)
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 67,462 ล้าน ลบ.ม. (82%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 59,480 ล้าน ลบ.ม. (82%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 24 แห่ง ได้แก่ แม่งัด แม่มอก กิ่วลม กิ่วคอหมา แควน้อย ทับเสลา กระเสียว ป่าสัก ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ลำนางรอง สิรินทร ขุนด่านฯ คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทรจินดา หนองหารและบึงบระเพ็ด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศฉบับที่ 50/2565 เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำท่าจีน ในช่วงวันที่ 13 – 16 ต.ค. 65 จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
1. ลำห้วยกระเสียว บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ต.แจงงาม และหนองโพธิ์ อ.หนองหญ้าไซ ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง ต.กระเสียว และหนองสะเดา อ.สามชุก ต.หนองกระทุ่ม ป่าสะแก วังศรีราช หัวเขา และบ่อกรุ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นและล้นตลิ่งประมาณ 0.10 – 0.15 เมตร
2. แม่น้ำท่าจีน บริเวณตั้งแต่ อ.สามชุก ศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี บางปลาม้า และสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อ.บางเลน นครชัยศรี และสามพราน จ.นครปฐม อ.กระทุ่มแบน และเมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15 – 0.30 เมตร
กอนช. ติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหนุนสูงในช่วงสิ้นเดือนต.ค.นี้
กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากท่าเรือใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ท่าราชวรดิฐ ถนนทรงวาดวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร ศาลเจ้าโรงเกือก วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรมอู่ทหารเรือ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร สะพานพระราม 8 วัดเทพนารี เพื่อตรวจดูระดับแนวเขื่อนที่ต่ำกว่า 3 เมตร ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูง โดยไล่ไปตั้งแต่ปากคลองตลาดลงไปจนถึงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน แล้ววนกลับขึ้นมาจนถึงสะพานกรุงธนบุรี ซึ่งแนวเขื่อนจะอยู่ในระดับ 2.80 เมตร ส่วนด้านบนขึ้นไปจนถึงคลองบางเขนใหม่ แนวเขื่อนจะอยู่ในระดับ 3.50 เมตร ซึ่งยังไม่น่ากังวลในบริเวณแนวฟันหลอได้กำชับสำนักการระบายน้ำวางกระสอบทรายให้สูงเต็มแนวก่อน ป้องกันไม่ให้มีปัญหาเรื่องน้ำล้นแนวเขื่อนเข้ามา กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมไว้ 2.5 ล้านใบ มีปริมาณเพียงพอที่จะใช้กั้นระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ในช่วงนี้ปริมาณฝนเริ่มจะน้อยลงแล้ว แต่ยังคงมีปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงมาประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง
จากการคาดการณ์ในวันที่ 29 ต.ค.นี้ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงกว่าช่วงนี้อีกประมาณ 20 ซม. ขณะนี้มีปริมาณน้ำเหนือที่ไหลผ่านลงมาประมาณ 3,100 ลบ.ม./วินาที แต่มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามต้องเตรียมความพร้อมรับมือ หาก ระดับน้ำขึ้นสูงตามที่คาดการณ์ รวมถึงต้องประสานกับกรมเจ้าท่ากำชับผู้ประกอบการเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดคลื่นสูง ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 14 ต.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 50/2565 ลงวันที่ 11 ต.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำท่าจีน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน พบว่ามีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 9 – 10 ต.ค. 2565 บริเวณตอนบนเขื่อนกระเสียว ส่งผลให้วันที่ 11 ต.ค. 2565 มีน้ำปริมาณมากไหลเข้าเขื่อนกระเสียว 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำเก็บกัก 318 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 106% และมีน้ำไหลผ่านอาคารระบายน้ำล้นและอาคารระบายน้ำในตัวเขื่อน รวม 130 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลงสู่ลำห้วยกระเสียวและแม่น้ำท่าจีนตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นในช่วงวันที่ 13 – 16 ต.ค. 2565 ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน บริเวณปากน้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียง จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ลำห้วยกระเสียว บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ตำบลแจงงาม และหนองโพธิ์ อำเภอหนองหญ้าไซ ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง ตำบลกระเสียว และหนองสะเดา อำเภอสามชุก ตำบลหนองกระทุ่ม ป่าสะแก วังศรีราช หัวเขา และบ่อกรุ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นและล้นตลิ่งประมาณ 0.10 – 0.15 เมตร และแม่น้ำท่าจีน บริเวณตั้งแต่อำเภอสามชุก ศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี บางปลาม้า และสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอบางเลน นครชัยศรี และสามพราน จังหวัดนครปฐม อำเภอกระทุ่มแบน และเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15 – 0.30 เมตร
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและสถานการณ์อุทกภัย ณ วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และบริเวณชุมชนใกล้เคียง พร้อมเยี่ยมเยียนและให้กำลังประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ได้ร่วมหารือแนวทางการแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ร่วมกับ นางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และนายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี ตามข้อห่วงใยของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเร่งขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนนอกเขตคันกั้นน้ำในเขตจังหวัดนนทบุรี
3. สถานการณ์น้ำท่วม
จากสถานการณ์มสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย รวมถึงสถานการณ์พายุ “โนรู (NORU)” ที่เข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับมีการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. – 8 ต.ค. 65 จำนวน 56 จ. 267 อ. 1,289 ต. 7,663 ม. ประชาชนได้รับผลกระทบ 270,315 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 34 จังหวัด ภาคเหนือ 6 จังหวัด จังหวัดตาก พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ และสุโขทัย ภาคกลาง 12 จังหวัด จังหวัดนนทบุรี ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และนครปฐม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด จังหวัดกาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ภาคตะวันออก 4 จังหวัด จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และระยอง