สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 ต.ค. 65
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีฝนน้อย ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ราชบุรี (77 มม.)จ.กาญจนบุรี (54 มม.) และ จ.สุราษฎร์ธานี (46 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 67,290 ลบ.ม. (82%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 59,289 ล้าน ลบ.ม. (83%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 23 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย บึงบระเพ็ด ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว ห้วยหลวง หนองหาร จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง ขุนด่าน คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล และนฤบดินทร
พลเอก ประวิตร ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานีและศรีสะเกษ เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำ
วานนี้ (12 ต.ค. 65) พลเอก.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย จ.อุบลราชธานีและศรีสะเกษ โดยรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดปัญหาอุทกภัยและการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. บรรยายสรุปสถานการณ์ภาพรวมของลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูล ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล บริเวณ จ.อุบลราชธานี และศรีสะเกษ พร้อมให้กำลังใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ
รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ กอนช. โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหน่วยงานหลัก ในการประสานแผนการบริหารจัดการน้ำของกรรมการลุ่มน้ำ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัดและการประกาศพื้นที่ประสบภัย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการน้ำในสภาวะเสี่ยงเกิดอุทกภัยและส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด พร้อมมอบหมายให้กรมชลประทาน ดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมปี 2565 ตามที่ กนช. ได้ให้ความเห็นชอบไว้ และตามมติของคณะทำงานศูนย์ส่วนหน้าฯที่มีความเห็นร่วมกันให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างทันท่วงที และขอให้จังหวัดร่วมกับหน่วยทหาร สนับสนุนเครื่องมือ ยานพาหนะ และกำลังพล เพื่อเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว รวมทั้งขอให้จังหวัด หน่วยงานราชการ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมแผนการช่วยเหลือฟื้นฟู ภายหลังน้ำลดให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วต่อไปด้วย