เร่งต่อยอดรถไฟไฮสปีด “หนองคาย-เวียงจันทน์”
เชื่อมโยงขนส่ง-เศรษฐกิจ-การค้า “ไทย-ลาว-จีน”
ขณะนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้วางยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน ว่าจะเปลี่ยนจากประเทศ Landlocked ให้เป็น Land-Linked โดยการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทยกับจีนและเวียดนามผ่านเครือข่ายระบบการขนส่งทางถนนและทางราง เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าและ GDP ของ สปป.ลาว ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการค้าการการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมตามไปด้วย
ประเทศไทย จึงต้องเร่งผลักดันโครงการสำคัญที่จะเชื่อมต่อกับ Land-Linked ของ สปป.ลาว เพื่อเชื่อมโยงโอกาสและภาคการขนส่ง ให้เชื่อมต่อกันอย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองของทั้งสองประเทศให้เป็นไปอย่างมั่นคง และยั่งยืน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะผู้แทนไทย ได้เข้าประชุมร่วมกับนายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการพัฒนาเชื่อมโยงการขนส่ง การค้า การลงทุนของ สปป.ลาว เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ณ โรงแรม Muong Thanh Luxury Vientiane Hotel สปป.ลาว กรุงเวียงจันทน์
เร่งพัฒนาสถานีหนองคายรองรับการเชื่อมต่อรถไฟไทย-ลาว
โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมตระหนักถึงความสำคัญของโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟ ไทย – ลาว – จีน เพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ และถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคที่ยั่งยืน ที่จะสร้างโอกาสให้ทั้งสองประเทศในการส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าโลก
ซึ่งในขณะนี้ฝ่ายไทยได้มีแผนเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟหนองคายไปยังสถานีรถไฟเวียงจันทน์ ด้วยการพัฒนาสถานีรถไฟหนองคาย ให้สามารถรองรับการขนส่งสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ได้
ตั้งเป้าเปิดรถไฟไฮสปีดไทย-จีน เฟสแรกปี 69
สำหรับแผนการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ในส่วนของแผนการก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2569, โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA คาดว่าเปิดให้บริการปี 2571 และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร สถานีทั้งหมด 15 สถานี คาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้ภายในปี 2565 นี้
ทล. ทำ TOR ศึกษาออกแบบสะพานข้ามโขงแห่งใหม่
ส่วนการบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและสะพานข้ามแม่น้ำโขงเดิม ระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ จะเป็นการเพิ่มขบวนรถขาไป 7 ขบวนและขากลับ 7 ขบวน รวมเป็น 14 ขบวน รองรับได้ขบวนละ 25 แคร่ โดยกรมทางหลวง (ทล.) จะทำการทดสอบการรับน้ำหนักรถไฟเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของสะพาน
ขณะที่แผนการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งจะใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่ ห่างประมาณ 30 เมตร มีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน คือ 1.435 เมตร และทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันได้ข้อตกลงว่าฝ่ายไทยและฝ่ายลาวจะร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ ทล. ดำเนินการออกแบบสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ให้สามารถรองรับรถยนต์ด้วย
ทั้งนี้ ทล. ได้ปรับแผนการดำเนินการ เป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study : FS Study) และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE)
ระยะที่ 2 งานออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และงานศึกษาทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
โดยขณะนี้ ทล. ได้ประกาศร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR ) สำหรับการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการแล้ว
ปรับพื้นที่สถานีหนองคาย 80 ไร่ ขยายศักยภาพรองรับการขนส่ง
นอกจากนั้นยังมีแนวทางพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าของฝั่งไทย – ลาว เพื่อเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า เตรียมความพร้อมในการเปิดเส้นทางรถไฟจีน – ลาว โดยมีการพัฒนาสถานีหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม โดยเพิ่มรถไฟ จาก 4 ขบวนต่อวัน เป็น 14 ขบวนต่อวัน และเพิ่มจากขบวนละ 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ โดยพัฒนาบริเวณสถานีที่มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง โดย การคถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานยกขนสินค้าเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่กรมศุลกากร ได้ดำเนินการขอออกประกาศใช้พื้นที่บริเวณสถานีหนองคายเป็นพื้นที่ตรวจปล่อย จำนวน 46,800 ตารางเมตร โดย รฟท. อยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งพื้นที่คงเหลือ จากการใช้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยออกเป็น 5 แปลง พื้นที่แปลงละ 11,200 ตารางเมตร เพื่อออกประกาศเชิญชวน จำนวน 4 แปลง และกันไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง 1 แปลง โดยจะกำหนดราคาค่าเช่าตามระเบียบต่อไป
ส่วนระยะยาว จะเป็นการพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต) พัฒนาพื้นที่ย่านสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย ให้สามารถรองรับการขนส่งจากจีน – ลาว และส่งออกไปยัง สปป.ลาว ปัจจุบัน รฟท. อนุมัติให้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางรางจังหวัดหนองคาย โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 2565