สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 ต.ค. 65
บริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนลดลง แต่บริเวณภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.น่าน (79 มม.) จ.เพชรบุรี (77 มม.) และ จ.พังงา (64 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 47/2565 เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ในช่วงวันที่ 3-9 ต.ค. 65 ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยจะทยอยปรับเพิ่มจากอัตรา 600 ลบ.ม./วินาที เป็นอัตรา 800 ลบ.ม./วินาที ทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำท้ายเขื่อนป่าสัก อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40–1.00 ม. บริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40–1.60 ม. และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25-0.50 ม. ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300–3,500 ลบ.ม./วินาที
ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทถึง จ.สมุทรปราการ จำเป็นต้องระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700–2,800 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณ อ.เมืองชัยนาท และมโนรมย์ จ.ชัยนาท และ อ.เมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 ม.
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 63,834 ลบ.ม. (78%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 55,906 ล้าน ลบ.ม. (78%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง บริเวณภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 23 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง สิรินธร ขุนด่าน คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทร และบึงบระเพ็ด
วานนี้ (4 ต.ค. 65) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากอิทธิพลพายุ “โนรู” (NORU) ทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดอุทกภัย พร้อมตรวจติดตามสถานการณ์น้ำริมตลิ่งบริเวณบึงหนองโคตร ณ บึงหนองโคตร ต.บ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
เร่งสำรวจตรวจสอบประตูระบายน้ำไม่ให้เกิดการชำรุดเสียหาย และให้ซ่อมบำรุงให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ รวมไปถึงการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น อาทิ โครงการแก้มลิง แผนรองรับปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝน ให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม ทั้งแผนหลัก แผนสำรอง เพื่อรองรับและแก้ปัญหาในอนาคตด้วย โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำให้สมบูรณ์ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหน่วยทหารบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนช่วยเหลือประชาชน และคลี่คลายสถานการณ์ตามแผนการช่วยเหลือ และจัดกำลังทหารสนับสนุนส่วนราชการท้องถิ่นดูแลประชาชนที่ศูนย์อพยพชั่วคราว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งระบายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด รวมทั้งเร่งระบายน้ำโดยเร็ว เน้นการเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเส้นทางระบายน้ำเดิมที่มีสิ่งกีดขวาง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 5 ต.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 47/2565 ลงวันที่ 3 ต.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 3 – 9 ต.ค. 2565 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยจะทยอยปรับเพิ่มจากอัตรา 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40 – 1.00 เมตร และบริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40 – 0.60 เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25 – 0.50 เมตร ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300 – 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และส่งผลให้เกิดน้ำอัดเท้อไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำน้อยทำให้ระดับแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับลุ่มน้ำยมเกิดน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งได้หน่วงน้ำโดยการผันน้ำเข้าไปเก็บในทุ่งบางระกำเต็มความจุแล้ว และมีน้ำหลากจากแม่น้ำปิงไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจาก จ.ชัยนาทถึงสมุทรปราการ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700 – 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณ อ.เมืองชัยนาทและมโนรมย์ จ.ชัยนาท และ อ.เมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
วานนี้ (4 ต.ค. 65) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางตรวจติดตามแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดขอนแก่น โดยได้ฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำ และสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเบื้องต้น ทางจังหวัดขอนแก่นได้ระดมเครื่องสูบน้ำจากหน่วยงานในพื้นที่ เร่งพร่องน้ำออกจากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกมาอย่างต่อเนื่อง
3. สถานการณ์น้ำท่วม ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
จากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันตก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับสถานการณ์พายุ “โนรู (NORUJ) ที่เข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 65 ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ รวม 39 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน สุโขทัย พิจิตร อุตรดิตถ์ แพร่ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น หนองบัวลำภู อุดรธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว