นักข่าวซาอุฯหายตัวอาจกระทบตลาดน้ำมัน
หากซาอุดิอาระเบียตอบโต้การกดดันจากนานาชาติที่ระบุว่าซาอุฯเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของผู้สื่อข่าวที่มีชื่อเสียง นักวิเคราะห์เตือนว่าอาจส่งผลด้านลบกับตลาดน้ำมันทั่วโลก
ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯและประชาคมนานาชาติถดถอยลงอย่างรวดเร็วหลังจากที่ จามาล คาชอกกี ผู้สื่อข่าวซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้หายตัวไปเมื่อช่วงต้นเดือนหลังไปทำธุระที่สถานกงสุลของซาอุดิอาระเบียในกรุงอิสตันบุล ประเทศตุรกี
มีรายงานว่าตุรกีเชื่อว่าผู้สื่อข่าวจากวอชิงตันโพสต์รายนี้ (ซึ่งมักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซาอุฯอยู่บ่อยครั้ง) ถูกสังหารภายในสถานกงสุลของซาอุฯ และมีการเคลื่อนย้ายร่างของเขาออกไปแล้ว ขณะที่ซาอุฯเพิกเฉยต่อรายงานนี้
ตลาดหุ้นในซาอุฯ ดิ่งร่วงลงในวันที่ 14 ต.ค. และนักวิเคราะห์เชื่อว่าตลาดน้ำมันอาจเป็นตลาดต่อไปที่จะได้รับผลกระทบ
Robert Cornell หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในการทำวิจัยที่ ING ระบุว่า เหตุร้ายนี้เป็นการเปิดเผยแหล่งใหม่ของความเสี่ยง
“ การตอบโต้ใดๆจากซาอุฯ อาจส่งผลทำให้ซัพพลายน้ำมันลดลงและราคาปรับสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบกับความเชื่อมั่นของตลาดน้ำมัน ” เขาระบุในรายงานเมื่อวันที่ 15 ต.ค.
ราคาน้ำมันในช่วงบ่ายของวันที่ 15 ต.ค.ในการซื้อขายในเอเชีย ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.29% เป็น 81.47 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบล่วงหน้าสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 1.14% มาอยู่ที่ 72.15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล
โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯระบุเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ว่า จะมีบทลงโทษซาอุฯอย่างร้ายแรง หากพบว่าคาชอกกีถูกสังหารในสถานกงสุลจริง แต่ซาอุฯระบุในวันเดียวกันว่า จะตอบโต้กับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศอื่นในคดีนี้ สำนักข่าว SPA ซึ่งเป็นสำนักข่าวรัฐบาลรายงานโดยอ้างอิงจากแหล่งข่าวที่เป็นทางการ
Michael Heise หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ Allianz กล่าวกับสื่อ CNBC เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ว่า ซาอุฯอาจมีการใช้ราคาน้ำมันเป็นเครื่องมือสำคัญในการตอบโต้การคว่ำบาตรจากประเทศอื่น
“ ขึ้นอยู่กับว่ามาตรการคว่ำบาตรจะเข้มงวดเพียงใด โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ซาอุฯต้องใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือ ผมจะไม่มองในแง่ดีเกินไปในประเด็นนี้ ” เขากล่าว
“ หากราคาน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะกระทบกับหลายตลาด รวมถึงตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน ผมคิดว่านั่นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่สุดของวิกฤตนี้” เขาเสริม
เหตุร้ายนี้เป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันกับราคาน้ำมัน โดยซัพพลายน้ำมันดูจะลดลงเมื่อสหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งมีกำหนดเริ่มต้นในเดือนหน้า ที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์ต้องพึ่งพาซาอุฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก เพื่อคงซัพพลายและควบคุมราคาน้ำมัน
ซึ่งนี่อาจเป็นปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อนสำหรับผู้นำสหรัฐฯ หากสถานการณ์เลวร้ายลากยาวไปจนถึงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ
“ สถานการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งกลางเทอม เขาไม่ต้องการให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เพราะมันจะสะท้อนไปถึงราคาน้ำมันในสหรัฐฯ ” Matthew Smith ผอ.ฝ่ายวิจัยโภคภัณฑ์ที่บริษัท ClipperData กล่าวกับสื่อ CNBC
“ เพราะในเวลาเดียวกัน เราก็มีมาตรการคว่ำบาตรเช่นนี้ที่จะเริ่มส่งผลกับอิหร่านด้วย ”