ศก.โลกเสี่ยงคลื่นใต้น้ำอันตราย
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกโรงเตือนว่า กำลังมีคลื่นใต้น้ำอันตรายเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก
โดยในรายงานเสถียรภาพการเงินของ IMF ระบุว่า แม้ธนาคารในปัจจุบันจะมีความมั่นคงปลอดภัยมากกว่าในปี 2551 ที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกก็ตาม แต่ก็มีความเสี่ยงใหม่เกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้าที่ยกระดับความรุนแรงขึ้นและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น
สงครามการค้าที่ยกระดับขึ้นอาจเป็นอันตรายกับการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่ภัยคุกคามอื่นที่ส่งผลต่อการค้า เช่น เบร็กซิทที่ยังไม่ลงตัวอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของตลาด IMF ระบุ
โดย IMF ชี้ว่า การที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีดีล อาจทำให้เกิดการกระจัดกระจายในตลาดเงินของยุโรป หมายความว่า การเงินจะไม่ไหลเวียนในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนที่ผ่านมา โดยทาง IMF แนะนำให้ธนาคารกลางอังกฤษเตรียมพร้อมที่จะมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอื่นหากมีความจำเป็น เช่น การพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ทาง IMF ได้ลดระดับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าลง โดยกล่าวโทษนโยบายกีดกันทางการค้าว่าเป็นสาเหตุสำคัญ
รายงานเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ระบุว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆควรพยายามเข้มงวดกับการคุมเข้มธนาคาร เพื่อหยุดไม่ให้เกิดวิกฤตการเงินขึ้นมาอีกครั้งเหมือนในปี 2551 IMF ยังได้เตือนนักลงทุนในตลาดลักทรัพย์ ซึ่งหุ้นพุ่งทะยานเป็นขาขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่ผ่านมาด้วย
ในรายงานระบุว่า นักลงทุนอยู่ในอันตราย อย่าเพลิดเพลินกับโอกาสที่มีในขณะนี้เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจช็อคกับระบบได้และนี่อาจเป็นการสิ้นสุดยุคของการหาเงินได้ง่าย
ธนาคารกลางของหลายประเทศเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เคยใช้ในช่วงหลังเกิดวิกฤตการเงิน ดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น และมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงิน เช่น การพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา
IMF กังวลว่านี่อาจนำไปสู่การทรุดตัวลงของตลาดในอนาคต
“ มองไปข้างหน้า เริ่มเห็นเมฆบนท้องฟ้า” รายงานระบุ โดยรายงานนี้มีการเผยแพร่ในการกระชุมประจำปีของ IMF ที่บาหลี อินโดนีเซีย
สภาวะที่ผันผวนมีความเสี่ยงในตอนนี้เกิดจากเศรษฐกิจอเมริกันที่ยังคงแข็งแกร่ง หนุนให้นักลงทุนต่างชาติย้ายเงินทุนมาที่สหรัฐฯและลงทุนในเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการดึงดูดเงินทุนทั่วโลกเพราะผลตอบแทนที่ได้สูงขึ้น
นี่ส่งผลกดดันกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น ตุรกี และอาร์เจนตินา ซึ่งมีหนี้สาธารณะจำนวนมากก่อให้เกิดความกังวลกับนักลงทุน
IMF ระบุว่า มีความเสี่ยงที่การทรุดตัวจะลุกลามเนื่องจากนักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยความเสี่ยงที่เงินทุนไหลออกจะเพิ่มขึ้น
รายงานระบุว่า เงินทุนไหลออกอาจสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็นประมาณ 0.6% ของรายได้ประชาชาติโดยรวมของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
นี่จะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจเข้าใกล้วิกฤตการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ