กรมศุลฯหวั่นเศรษฐกิจโลกกดรายได้ภาษีปีหน้า
กรมศุลกากรโชว์ผลงานจัดเก็บภาษีช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ทะลุเป้า เผยยอดรวมจัดเก็บรายได้แทนกรมภาษีอื่น ทะยานถึง 3.85 แสนล้านบาท เฉพาะกรมศุลกากรเอง สูงเกินทั้ง 3 เป้าที่วางไว้ ระบุ ห่วงการจัดเก็บภาษีในปีหน้า อาจไม่ได้ตามเป้า หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก จากภัย “สงคราม 2 มหาอำนาจ”
แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลก จากสารพัดปัญหา โดยเฉพาะปม “สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน” ที่ลุกลามขยายผล จนกระทบเศรษฐกิจไทยและประเทศคู่ค้าสำคัญ กระทั่ง หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องปรากศปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2562 ลดลงจากเดิม ที่คาดว่าน่าจะเติบโตราว 4.3-4.4% เหลือไม่ถึง 4.0% พร้อมปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกในปีเดียวกัน เหลือเพียง 3.2% ทั้งที่สิ้นปีก่อนหน้านี้ ยังคงเติบโตที่ระดับ 6.7% ถึงจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ 8.0% แต่ก็ยังไม่น่าตกใจเท่ากับตัวเลขในปีนี้
กระนั้น การจัดเก็บรายได้ของกรมภาษี ที่แม้หลายฝ่ายยังคงกังวลใจ แต่ยังคงเดินหน้าตามเป้าหมายเดิม ก่อนหน้านี้ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เคยระบุว่า เป้าการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรที่ 2 ล้านล้านบาทนั้น น่าจะยังอยู่ในวิสัยที่พอทำได้ในปีนี้ แต่ปีต่อๆ ไป ยอมรับว่า “เหนื่อยมาก” นั่นจึงเป็นที่มาของการ “เปิดเกมรุก” ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอย่างเข้มข้ม เพื่อ “ปิดช่อง” พฤติกรรมของภาคเอกชนผู้เสียภาษี ที่อาจนำไปสู่อาการ “หลุดเป้า-จัดเก็บภาษี” จากช่องโหว่เดิมที่เคยมี
ล่าสุด นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงผลการจัดเก็บรายได้ช่วง 7 เดือนของปี 2562 (1 ต.ค.61 – 21 พ.ค.62) ว่า ในส่วนของกรมศุลกากร ถือว่าการจัดเก็บรายได้ยังคงสูงกว่า 3 เป้า กล่าวคือ สูงกว่าประมาณการ, สูงกว่าคาดการณ์ และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีตัวเลขจัดเก็บรายได้ 6.9 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,355 ล้านบาท (ประมาณการ 6.3 หมื่นล้านบาท) คิดเป็น 10.0 % สูงกว่าคาดการณ์ 1,536 ล้านบาท (คาดการณ์ 6.8 หมื่นล้านบาท) คิดเป็น 2.3 % และสูงกว่าปีก่อน 291 ล้านบาท (ปีก่อน 6.9 หมื่นล้านบาท) คิดเป็น 0.4 %
ทั้งนี้ หากมองรายได้รวมที่ กรมศุลกากร จัดเก็บภาษีแทน “กรมภาษี” ด้วยกัน ก็ยังถือว่า สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน โดยกรมศุลกากรสามารถจัดเก็บรายได้ช่วง 7 เดือนนี้ รวมกัน 3.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จัดเก็บแทนหน่วยงานอื่น 3.15 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 82 % ของรายได้ที่จัดเก็บรวม และเป็นการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 1.7 หมื่นล้านบาท หรือ 6.0 %
สาเหตุที่ศุลกากรจัดเก็บรายได้สูงกว่า 3 เป้า นั่นเพราะสามารถจัดเก็บภาษีส่วนที่เป็นสินค้าประเภทยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,742 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21.2 % สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ จัดเก็บเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 585 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.9 % ขณะที่สินค้ากลุ่มเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ จัดเก็บเพิ่มขึ้น 485 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.1 %
นายกฤษฎาย้ำว่า กรมศุลการกรได้ดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ พร้อมอุดรอยรั่วไหลในการจัดเก็บภาษีอากรอย่างต่อเนื่อง คาดว่า จะสามารถจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2562 ราว 1.08 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ และสูงกว่าคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง แต่ใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ว่ามูลค่าการนำเข้าอาจหดตัวลงตามการชะลอตัวของภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังก็ตาม
“ เรารู้สึกเป็นห่วงกับสถานการณ์เศรษฐกิจและเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมาและในอนาคต แต่ยังเชื่อว่าในปี 2562 นี้ การจัดเก็บรายได้ยังคงสูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ ส่วนในปีหน้าและปีต่อๆ ไปนั้น คงต้องพิจารณาปรับประมาณการจัดเก็บรายได้ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ” อธิบดีกรมศุลกากร ระบุ
สำหรับสถิติผลการตรวจพบการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องของกรมศุลกากร ปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561 – ปัจจุบัน) พบการกระทำความผิด 1.8 หมื่นคดี มูลค่า 1.4 พันล้านบาท แบ่งตามประเภทฐานความผิด อาทิ ความผิดคดีลักลอบ จำนวน 3,778 คดี คิดเป็นอากรศุลกากร 39 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 42 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 12 ล้านบาท ความผิดหลีกเลี่ยงราคาต่ำ จำนวน 7,760 คดี คิดเป็นอากรศุลกากร 15 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 4.6 แสนบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7.02 ล้านบาท
ความผิดหลีกเลี่ยงตรวจสอบเอกสาร จำนวน 28 คดี คิดเป็นอากรศุลกากร 56 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 3.1 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 10 ล้านบาท ความผิดหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด จำนวน 1,293 คดี คิดเป็นอากรศุลกากร 15 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 4.34 แสนบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 3.15 ล้านบาท ความผิดหลีกเลี่ยง สำแดงเท็จ จำนวน 6,130 คดี คิดเป็นอากรศุลกากร 98 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 5.76 แสนบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 21 ล้านบาท รวม จำนวน 18,989 คดี คิดเป็นอากรศุลกากร 225 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 47 สิบบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 54 ล้านบาท.