ครัวเรือนญี่ปุ่นใช้จ่ายสูงสุดใน 3 ปี
ตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนญี่ปุ่นในเดือนส.ค.มีการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากโบนัสที่เพิ่มขึ้นหนุนการบริโภค ชี้ให้เห็นดีมานด์ที่แข็งแกร่งในประเทศซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้า
ข้อมูลที่เผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ยังลดทอนความกังวลของนักวิเคราะห์ที่ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกอาจชะลอตัวลง หรืออาจหดตัวในไตรมาสเดือนก.ค.- ก.ย.ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากทั้งคลื่นความร้อน ฝนตกหนัก พายุไต้ฝุ่น และแผ่นดินไหว
การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเติบโต 2.8% ในเดือนส.ค.เมื่อเทียบกับปีก่อน ถือเป็นการเติบโตสูงสุดตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2558 เป็นต้นมา อ้างอิงจากข้อมุลของภาครัฐ เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันหลังเติบโต 0.1% ในเดือนก.ค.
“ ตัวเลขการบริโภคเป็นไปด้วยดี จากอานิสงส์ของโบนัสช่วงฤดูร้อน และค่าจ้างที่ปรับขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ยอดค้าปลีกโดยรวมดี แม้สภาพอากาศจะเลวร้ายก็ตาม ” อัตสึชิ ทาเคดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจอิโตชูระบุ
“ รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น จึงช่วยหนุนตัวเลขการบริโภค ” เขากล่าว
รัฐบาลยกระดับการประเมินการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยระบุว่าเป็น “การฟื้นตัว” โดยในเดือนก.ค. ทางภาครัฐชี้ว่าการใช้จ่ายเป็นไปอย่างราบเรียบ ไม่หวือหวา
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายจะลดลงในเดือนส.ค.เนื่องจากสภาพอากาศร้อน และมีพายุไต้ฝุ่นที่ส่งผลกระทบกับครัวเรือนไม่ให้ออกไปช้อปปิ้งหรือกินอาหารนอกบ้านได้ตามปกติ
ตลาดงานที่ตึงตัวค่อยๆ เพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน และช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 50% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
ตัวเลขการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของการบริโภคเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ซึ่งมีการปรับคณะรัฐมนตรีหลังจากชนะได้เป็นหัวหน้าพรรคต่ออีกในเดือนก.ย. เนื่องจากเขามีกำหนดจะปรับเพิ่มภาษีขายในเดือนต.ค.ปีหน้า
ทั้งนี้ ขณะที่ข้อมูลการใช้จ่ายครัวเรือนที่แข็งแกร่งทำให้รัฐบาลสบายใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ปกคลุมแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่
ภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้งส่งผลทำให้ผลผลิตโรงงานชะลอตัว รวมถึงความขัดแย้งทางการค้าที่ยกระดับขึ้น ทำลายความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไตรมาส 3
ข้อมูลอีกฉบับชี้ว่า ค่าจ้างที่ปรับเปลี่ยนตามตัวเลขเงินเฟ้อลดลงในเดือนส.ค.เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ชี้ว่าผู้บริโภคอาจเริ่มระมัดระวังกับการใช้จ่าย เนื่องจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นส่งผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น
บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากจ่ายเงินโบนัสในเดือนมิ.ย. หรือก.ค.จึงส่งผลต่อการสำรวจในช่วงเดือนนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนจะใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการบรรเทาภัยพิบัติ ถึงแม้ว่าการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะไม่มากพอที่จะส่งผลกระทบอย่างมีเสถียรภาพกับเศรษฐกิจก็ตาม.