กบข.ดึงกลุ่มสถาบันสร้างกติกาเล่นหุ้นใหม่
“บิ๊ก’ กบข.” เดินเกมแรง “ล็อบบี้” นักลงทุนสถาบันร่วมสร้างปฏิญญา Negative Llist Guideline กดดันเจ้าของหุ้นที่มีพฤติกรรมส่อ “ขัดธรรมาภิบาล-ทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อม-ปั่นหุ้น-ติดแบล็กลิสต์ ก.ล.ต.” เผยผู้ใหญ่ในรัฐบาล-ก.คลังหนุนเต็มที่ หวังสร้างมาตรฐานระดับชาติ ระบุ รอปรับแก้หลักเกณฑ์หลังเดินสายคุย คาดลงนามบันทึกข้อตกลง 1 ต.ค.นี้ มั่นใจ “กติการเล่นหุ้นใหม่” ก่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวถึงการสร้างมาตรฐานใหม่ของการลงทุน ภายใต้หลักธรรมาภิบาล สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี (Negative Llist Guideline) ว่า ขณะนี้ กบข.ได้เดินสายพูดคุยกับนักลงทุนประเภทสถาบันรายใหญ่ของไทย อาทิ กองทุนประกันสังคม, บริษัทประกันชีวิต รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ขนาดใหญ่ ก่อนจะขยายผลไปยังกลุ่มนักลงทุนประเภทสถาบันอื่นๆ ต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างและวางระบบการลงทุนที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งขณะนี้ มีกระแสการตอบรับที่ดีมาก ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ในรัฐบาล และกระทรวงการคลัง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ต่างเห็นกับแนวทางดังกล่าว โดย กบข.ได้จัดทำเงื่อนไขการลงทุนภายใต้หลักการดังกล่าว ก่อนนำเสนอให้นักลงทุนประเภทสถาบันชั้นนำต่างๆ ได้ร่วมหารือ เพื่อปรับแต่งให้เหมาะ อันจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
หลักคิดคือจะเน้นลงทุนในตัวหุ้นของบริษัทที่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงาน โดยไม่เอาเปรียบสังคม และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในมาสร้างราคาหุ้น และไม่มีพฤติกรรมที่ส่อว่าทำผิดกฎหมาย หรือถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษหรือขึ้นบัญชีดำมาก่อน โดยหลักการดังกล่าวเปรียบเสมือน “ปฏิญญาร่วมกัน” ของนักลงทุนประเภทสถาบัน ซึ่งถือเป็นรายใหญ่ กินสัดส่วนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่สูงมาก ทั้งนี้ หากหลักเกณฑ์ที่ผ่านการหารือร่วมกันได้ถูกนำออกมาใช้ หลังการลงนามบันทึกความเข้าใจที่จะจัดขึ้น ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
อีกทั้ง ยังเป็นมาตรฐานใหม่ในการลงทุนของประเทศไทย โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะไม่มีผลย้อนหลัง แต่จะมองไปข้างหน้า ซึ่งหากต่อไปในอนาคต พบว่ามีบริษัทที่ดำเนินงานไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ที่ว่านี้ กลุ่มนักลงทุนประเภทสถาบัน ก็จะไม่ลงทุนในหุ้นตัวนั้นๆ เลย หรือในกรณีที่ลงทุนอยู่ก่อนแล้ว ก็จะไม่ลงทุนเพิ่มเติม เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นนั้นๆ และเป็นแรงกดดันให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทนั้นๆ หันมาสนใจในหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยธรรมภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป.