รถไฟความเร็วสูงทั้งดีและไม่ดีกับฮ่องกง
ระยะทางระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งไม่ห่างไกลเกินที่จะเริ่มต้นร่วมกัน กำลังจะใกล้ชิดกันยิ่งกว่าเคย
โดยรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างเมืองกวางโจว – เสิ่นเจิ้น – ฮ่องกงที่เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา และด้วยชื่อของโครงการรถไฟชี้ให้เห็นถึงจุดประสงค์ในการเชื่อมต่อฮ่องกงซึ่งเป็นฮับการเงินและการค้าสำคัญเข้ากับเมืองใหญ่ที่มีศักยภาพทางใต้ของจีนอย่างกวางโจวและเสิ่นเจิ้นด้วยรถไฟความเร็วสูง
ทางการท้องถิ่นตั้งเป้าที่จะลดเวลาในการเดินทางลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง เพื่อให้สามารถเข้าถึงโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะในประเทศของจีนซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีเส้นทางเดินรถที่มีความยาวถึง 25,000 ก.ม. และกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ระบุว่า โครงการนี้ต้องแลกมากับราคา ด้วยค่าใช้จ่ายของโครงการที่สูงเกือบ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 358,160 ล้านบาท “ขอพูดตรงๆว่า คนฮ่องกงจ่ายสูงมากสำหรับรถไฟความเร็วสูงนี้” ทันยา ชาน ส.ส.ฮ่องกง ซึ่งเรียกโครงการนี้ว่าเป็นการละเมิดอำนาจของฮ่องกง “และฉันข้องใจจริงๆถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะคืนกลับมาที่ฮ่องกง”
ข้อกังวลจากนักวิจารณ์ รวมถึงส.ส.ชานคือการจัดตั้งสถานีในเกาลูนตะวันตกบริเวณท่าเรือในจีนแผ่นดินใหญ่ที่เป็นของจีนและมีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรเป็นของจีน ทำให้หลายคนมองว่าเป็นการละเมิดกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง
ภายใต้กฎหมายพื้นฐาน ฮ่องกงยังคงมีอิสระในการทำหน้าที่ในส่วนเศรษฐกิจ ค่าเงิน และระบบกฎหมาย แต่ในฐานะเขตปกครองพิเศษของจีน โดยทางปักกิ่ง ซึ่งกำกับดูแลกิจการต่างประเทศและป้องกันประเทศ ให้สัญญาว่าระบบการบริหารจัดการในฮ่องกงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลา 50 ปี
ชาน ซึ่งเป็นสมาชิกสภาร่างกฎหมายระบุว่า เธอได้ถามไปยังรัฐบาลให้ชี้แจงว่า มีเจ้าหน้าที่ของจีนที่ทำงานในสถานีกี่คน แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน สื่อรายงานว่า มีการประเมินว่าน่าจะมีประมาณ 800 คน
“ การจัดให้เจ้าหน้าที่จีนซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายหลายร้อยคนมาประจำที่สถานีเกาลูนตะวันตกเป็นเรื่องที่น่ากังวล” พุนซิวโต นักเขียนบทความในฮ่องกงระบุในหนังสือพิมพ์แอปเปิลเดลีเมื่อวันที่ 13 ก.ย.
รัฐบาลจีนระบุว่า ระบบการทำงานของสถานีคืออำนวยความสะดวกสูงสุดแก่ผู้โดยสาร ทำให้พวกเขาผ่านกระบวนการเข้าฮ่องกงและจีนในสถานที่เดียว โดยฮ่องกงได้มีการบริหารจัดการที่เหมือนกันทั่วพรมแดน
ขณะที่แคร์รี แลม ผู้ว่าการฮ่องกง แสดงอาการไม่พอใจ โดยระบุว่า ความกลัวและความวิตกกังวลที่ไม่จำเป็นทั้งหลายเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงได้มีการรายงานต่อสื่อไปแล้วเมื่อต้นเดือนนี้
โครงการรถไฟนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามของจีนที่จะบูรณาการเศรษฐกิจระหว่างฮ่องกง มาเก๊าที่อยู่ใกล้เคียง และมณฑลกวางตุ้งเข้าด้วยกันในโครงการที่มีชื่อว่า Greater Bay Area
ภาครัฐและภาคธุรกิจย้ำชัดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจในแง่บวกสำหรับฮ่องกง แต่คณะกรรมการการท่องเที่ยวฮ่องกง และ บอร์ดบริหารการท่องเที่ยวฮ่องกง (HKTB) ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวจากรัฐบาล และหน่วยงานที่ปรึกษา ไม่มีรายงานผลการศึกษาผลกระทบที่ลงลึกในรายละเอียด โดยโฆษกของ HKTB ระบุในอีเมลว่า เป็นเรื่องยากที่จะประเมินผลกระทบของรถไฟในแง่ของจำนวนผู้โดยสารแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากมันส่งผลไปในหลายปัจจัย รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินด้วย
โดยรัฐบาลระบุบนเว็บไซต์เมื่อเดือนส.ค.ว่า มีการประเมินค่าเฉลี่ยเบื้องต้นของจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟต่อวันอยู่ที่ประมาณ 80,000 คน และจะเพิ่มเป็น 95,000 คนในปี 2564
แฟรงค์ ชาน เลขานุการของคณะกรรมการขนส่งและเคหะระบุว่า ในรายงานเมื่อเดือนส.ค.ชี้ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรงกว่า 90% จะมาจากเวลาที่ผู้โดยสารสามารถประหยัดได้ ซึ่งมีการประเมินว่าจะสูงประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯใน 50 ปี โดยเขาชี้แจงว่า รถไฟจะช่วยหนุนการค้าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม รวมถึงสถานะของฮ่องกงว่าเป็นฮับในการคมนาคม เขายังได้เน้นว่า จะเป็นการช่วยส่งเสริมการเติบโตทางการค้าอย่างมั่นคง รวมถึงการท่องเที่ยว พาณิชย์และบริการระดับมืออาชีพ