สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 6 ก.ย. 65
ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.อุบลราชธานี (174 มม.) จ.พะเยา (163 มม.) และ จ.เชียงราย (144 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 52,165 ล้าน ลบ.ม. (64%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 45,633 ล้าน ลบ.ม. (64%) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ แม่งัด แควน้อย บึงบอระเพ็ด อุบลรัตน์ ขุนด่าน บางพระ และหนองปลาไหล
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง ดังนี้
ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคกลาง จ.ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสระบุรี
ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต
กอนช.ประเมินพื้นที่เสี่ยง เตรียมจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
วานนี้ (วันที่ 5 ก.ย. 65) นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. ในฐานะเลขานุการ กอนช. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์ กอนช. ครั้งที่ 3/2565 ว่า ช่วงวันที่ 5-10 ก.ย. 65 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เนื่องจากร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น กอนช. ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อประกอบการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ พบว่า
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงระหว่าง 6-12 ก.ย. 65 จะมีฝนตกหนักในบริเวณลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ส่งผลให้มีโอกาสเกิดอุทกภัย และบริเวณท้ายน้ำที่เป็นจุดรวมของลุ่มน้ำชีและมูล ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญมีโอกาสเสี่ยงที่จะระบายน้ำไม่ทันจนอาจเกิดผลกระทบต่อประชาชน นอกจากนี้ ในพื้นที่ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 6-9 ก.ย. 65 จะมีฝนตกหนักในบริเวณ จ.สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี ทำให้มีโอกาสจะเกิดอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำดังกล่าว เนื่องจากหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ดังนั้น กอนช. จึงเห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เพื่อเตรียมความพร้อม ติดตาม ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่บริหารจัดการมวลน้ำในช่วงฤดูฝนให้เกิดความเป็นเอกภาพจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และจะมีการเสนอ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนเร่งจัดตั้งศูนย์แห่งแรกที่ จ.อุบลราชธานี ในโอกาสต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 6 ก.ย. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 36/2565 ลงวันที่ 2 ก.ย. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 4 – 10 ก.ย. 2565 มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ บริเวณภาคเหนือ จังหวัดน่าน ตาก และอุทัยธานี ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
2.1 วานนี้ (5 ก.ย.65) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพื่อตรวจราชการ และติดตามสถานการณ์น้ำ โดยได้รับฟังการบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดกระบี่ จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการระบบส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบ อ่างเก็บน้ำคลองแห้ง และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่ดำเนินการ ส.ป.ก. (จ.กระบี่) บ้านสองแพรก พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมดำเนินการ จัดทำแผนเผชิญเหตุรับมือล่วงหน้า หากเกิดเหตุอุทกภัยขึ้น รวมถึงการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในระยะยาว โดยให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน และจังหวัดกระบี่ ดำเนินการตามแผนรับมือฤดูฝนทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด และดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมปี 2565 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบไว้
2.2 กอนช. ประเมินพื้นที่เสี่ยงในช่วงระหว่าง 6-12 ก.ย. 65 จะมีฝนตกหนักในบริเวณลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ส่งผลให้มีโอกาสเกิดอุทกภัย และบริเวณท้ายน้ำที่เป็นจุดรวมของลุ่มน้ำชีและมูล ที่ จ.อุบลราชธานี นอกจากนี้ในพื้นที่ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 6-9 ก.ย. 65 จะมีฝนตกหนักในบริเวณ บริเวณ จ.สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี จึงเห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เพื่อเตรียมความพร้อม ติดตาม ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่บริหารจัดการมวลน้ำในช่วงฤดูฝนให้เกิดความเป็นเอกภาพจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย พร้อมคาดการณ์ฝน ONE MAP เร่งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในอ่างและระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และจะมีการเสนอพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนเร่งจัดตั้งศูนย์แห่งแรกที่ จ.อุบลราชธานี ในโอกาสต่อไป
3. สถานการณ์น้ำท่วม
จากสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนข้าสู่พายุโชนร้อน “หมาอ้อน” (MAON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมากในบริเวณ ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 1,500 – 1,800 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำลันตลิ่งในพื้นที่ต่าง ๆ ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา เพชรบูรณ์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี ระยอง ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี และบุรีรัมย์