ธ.ก.ส.ทุ่มปล่อยกู้ 7.7 แสนล.มุ่งสู่ Go Green
ธ.ก.ส. ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปี 62 รวม 7.7แสนล้านบาท ดันเงินฝากเพิ่มอีก 6 หมื่นล้านบาท ประกาศชูนโยบายการปฏิรูปภาคเกษตรเพื่อสร้างความยั่งยืน และ “ธ.ก.ส. Go Green” มุ่งสู่ Go Green ตั้งเป้าสร้างอาหารปลอดภัย ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตร
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานในบัญชี 2561 (1 เม.ย.61 – 31 มี.ค.62) ว่า ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทแล้ว 678,342 ล้านบาท ส่งผลให้สินเชื่อเติบโตจากต้นปี 2560 ถึง 81,647 ล้านบาท ขณะที่ สินเชื่อรวม ณ สิ้นปีเท่ากับ 1,449,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปี 5.86% โดยมียอดเงินรับฝากรวม 1,617,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.75% และมีสินทรัพย์รวม 1,873,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.47%
ด้านหนี้สินรวม 1,738,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.80% และส่วนของเจ้าของรวม 135,541ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.41% โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 100,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้น 7.74% ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม 90,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.62% และมีกำไรสุทธิ 9,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.24% คิดเป็นอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) 0.55% ขณะที่ NPLs อยู่ที่ 3.87% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 11.82% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 8.50%
“ช่วงปีบัญชีที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินนโยบายสำคัญ เพื่อดูแลและพัฒนาเกษตรกรลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ มาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐ ผ่านโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2.92 ล้านราย วงเงิน 642,605.82 ล้านบาท และโครงการขยายเวลาชำระหนี้ต้นเงินกู้ (3 ปี) มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2.91 ล้านราย จำนวนเงิน 889,815 ล้านบาท และดำเนินการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติอีก 7 แผนงาน” นายอภิรมย์ระบุ
สำหรับ 7 แผนงานข้างต้น ประกอบด้วย 1.แผนงานพัฒนาและยกระดับเกษตรกรผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งทำให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการ 2,156,703 ราย มีรายได้เพิ่มมากกว่า 30,000 บาท/ปี จำนวน 837,867 ราย หรือ 51.44% และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากกว่า 100,000 บาท/ปี 29,911 ราย หรือ 1%
2.แผนงานพัฒนาและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยมีเกษตรกรและทายาทเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาสู่ Smart Farmer และยกระดับสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ SMEs เกษตร เพื่อเป็นหัวขบวนในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต การสร้างงานและรายได้ รวม 9,485 ราย
3.แผนงานเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์การเกษตรโครงการตลาดประชารัฐ โดยจัดตลาดประชารัฐในพื้นที่สาขา ธ.ก.ส. ที่มีทำเลเหมาะสมทั่วประเทศ จำนวน 280 แห่ง มีผู้ค้าเข้าร่วมโครงการ 6,974 ราย
4.โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1.92 ล้านราย พื้นที่ 27.6 ล้านไร่ โดยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 128,221 ราย พื้นที่จ่ายค่าทดแทนสินไหมกว่า 1.38 ล้านไร่ เป็นเงิน 1,741 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. เข้าถึงประกันภัยทางการเกษตร 95.82 %
5.แผนงานสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร (โครงการเงินออมกองทุนทวีสุข/กอช.) มีเกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก จำนวน 1.55 ล้านราย และมีสมาชิกที่ออมเงินต่อเนื่อง 50.67% 6.แผนงานพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรให้เป็นเครือข่ายทางการเงิน จำนวน 1,540 แห่ง และ 7.แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอุดมสุข มีชุมชนเข้าร่วม 928 แห่ง
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการนโยบายรัฐอื่น ๆ เช่น โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนา เป็นต้น
สำหรับปีบัญชี 2562 (1 เม.ย.62 -31 มี.ค.63) นั้น นายอภิรมย์ กล่าวว่า ธ.ก.ส.ตั้งเป้าอำนวยสินเชื่อระหว่างปี 770,000 ล้านบาท โดยเป็นการขยายสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 95,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ที่ตรงกับความต้องการของเกษตรกรลูกค้า 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่ม Small ซึ่งเป็นลูกค้าที่ยังคงมีปัญหาด้านเงินทุนและการประกอบอาชีพ เช่น ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 13,000 ล้านบาท กลุ่ม Smart หรือกลุ่มลูกค้าทั่วไป รวมถึงทายาทเกษตรกรวงเงิน 44,000 ล้านบาท และกลุ่ม SMAEs หรือผู้ประกอบการด้านการเกษตร กลุ่มสหกรณ์การเกษตรและวิสาหกิจชุมชนที่เป็นหัวขบวนในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต วงเงิน 38,000 ล้านบาท
ส่วนด้านเงินฝากมีเป้าหมายเพิ่มขึ้น 60,000 ล้านบาท จากการออกผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น สลากออมทรัพย์
เงินฝากแบบมีกรมธรรม์และสวัสดิการ กองทุนทวีสุข เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการออมเงินและการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกค้าในกลุ่มต่างๆ
นายอภิรมย์กล่าวอีกว่า การดำเนินงานในปีบัญชี 2562 จะขับเคลื่อนภายใต้แผนการปฏิรูปภาคเกษตร ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นการปรับการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การใช้โดรนเพื่อการเกษตร การปลูกพืชโดยระบบน้ำหยดการผสมปุ๋ยใช้เอง เป็นต้น การเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับพื้นที่และความต้องการของตลาด เช่น เกษตรแปลงใหญ่ Thai Rice Nama เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น การพัฒนาสหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการ SMAEs และการเชื่อมโยงด้านการตลาด เป็นต้น
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนภายใต้หลัก “ธ.ก.ส. Go Green” โดยมีเป้าหมายสนับสนุนชุมชน 400 ชุมชน พื้นที่กว่า 40,000 ไร่ เพื่อร่วมกันผลิตอาหารปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์ พร้อมบูรณาการกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เข้ามาสนับสนุนและผลักดันให้ชุมชนมีการตรวจสอบคุณภาพการผลิตและมีการรับรองมาตรฐาน เช่น GAP Organic Thailand PGA เป็นต้น และต่อยอดโดยการรวบรวมและแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งสนับสนุนช่องทางการตลาด เช่น ตลาดชุมชน ตลาด อตก. Modern Trade ร้านอาหาร A-Farm Mart E-commerce และตลาดประชารัฐ เป็นต้น
รวมถึงการยกระดับโครงการธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส.สู่ชุมชนไม้มีค่า 1,000 ชุมชน โดยสมาชิกชุมชนปลูกต้นไม้มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อยชุมชนละ 20,000 ต้น การพัฒนาผู้ตรวจประเมินมูลค่าต้นไม้ เพื่อเป็นหลักประกันทางสินเชื่อและธุรกิจ และผู้ประเมินการกักเก็บคาร์บอนตามแนวทางโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าชเรือนกระจก (LESS) ให้กับชุมชน 4,000 คน รวมถึงการสร้างวิสาหกิจชุมชน 400 แห่ง เพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ไม้ของชุมชน โดยนำวัตถุดิบที่ได้จากต้นไม้ เช่น กิ่งใบ ลำต้น เป็นต้น มาแปรรูปสร้างรายได้แก่ชุมชน ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีสมาชิกธนาคารต้นไม้ จำนวน 6,827 ชุมชน จำนวนสมาชิก 117,461 ราย มีต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มขึ้นในประเทศแล้วกว่า 11.8 ล้านต้น
นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาอาชีพ การลดต้นทุนการผลิต การผลิตอาหารปลอดภัย เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางสิ่งแวดล้อม และมิติทางวัฒนธรรมประเพณี จำนวน 3,000 ชุมชน โดยยกระดับชุมชนที่มีศักยภาพพัฒนาไปสู่ชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ จำนวน 35 ชุมชน
ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการและเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ธ.ก.ส.ได้พัฒนาการบริการผ่านแอพพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Mobile ให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงิน การถอนเงินโดยไม่ใช้บัตร ATM และชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ การซื้อสลากออมทรัพย์และบริการความรู้ด้านการเกษตรต่าง ๆ บริการบัตรเดบิต ธ.ก.ส. ที่สามารถชำระค่าสินค้าและบริการโดยไม่ต้องใช้เงินสด ซึ่งเหมาะกับ Lifestyle ของลูกค้ากลุ่มคน รุ่นใหม่ ทั้งสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย การจัดทำบริการบัตรเงินสด การจัดหาเครื่องมือทางเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนสถาบันการเงินชุมชน รวมถึงบริการเปิดบัญชีด้วยตนเอง ผ่าน ธ.ก.ส. A-Mobile
สำหรับมาตรการในการดูแลเกษตรลูกค้าที่ประสบภัยต่างๆ เช่น ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จนส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพทางการเกษตรนั้น ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการผ่านการให้สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าให้มีเงินทุนสำหรับสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย/โรงเรือนหรือเครื่องมือจักรกลทางการเกษตร หรือฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ และยังเป็นการลด/ป้องกันการก่อหนี้นอกระบบของเกษตรกร วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย MRR-2 วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 500,000 บาทอีกด้วย.