‘ดีพร้อม’ ระดมสตาร์ทอัพสู่ตลาดพาณิชย์ ขยายผล Startup Connect ปี 3
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ชูจุดแข็งเครือข่ายพันธมิตรเอกชนยักษ์ใหญ่ ดันสตาร์ทอัพไปต่อสู่ตลาดพาณิชย์ พร้อมขยายผลการดำเนินงาน DIPROM Startup Connect ปีที่ 3 ผ่านกิจกรรม Pitching Day ยกทัพ 8 สุดยอดนวัตกรรม นำเสนอโมเดลธุรกิจ เล็งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาทในปีนี้ พร้อมเตรียมเปิดพื้นที่สำหรับการทดลองนวัตกรรมในหน่วยงานภาครัฐ เพิ่มโอกาสการได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินทุน และตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม
นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งเสริมสร้างศักยภาพในภาคเศรษฐกิจทุกมิติ เพื่อนำพาประเทศก้าวข้ามวิกฤตการณ์ต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นย้ำให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ส่งเสริมผู้ประกอบการทุกภาคส่วนปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือสตาร์ทอัพ (Startup) โดยอาศัยศักยภาพการใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ เป็นฟันเฟืองสำคัญในการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรม ด้วยจุดแข็งของเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ รวมถึงมีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ร่วมเป็นผู้สนับสนุน อาทิ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยคม จํากัด (มหาชน) บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด และบริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด โดยบริษัทเหล่านี้ต่างเปิดพื้นที่สำหรับการทดลองนวัตกรรม (Playground) ของสตาร์ทอัพ ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (DIPROM Startup Connect) ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 มุ่งเน้นการขยาย
4 เครือข่ายคุณภาพ ทั้งเครือข่ายสตาร์ทอัพ เครือข่ายเงินทุน เครือข่ายตลาด และเครือข่ายวิชาการนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทศโนโลยีเชิงลึก หรือดีพเทค (Deep Technology) สร้างการตลาดใหม่และสามารถเข้าถึงตลาดของภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้
นายเจตนิพิฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมสำคัญที่ถือเป็นไฮไลต์ของการดำเนินงาน คือ การนำเสนอโมเดลธุรกิจเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุน (Pitching Day) เป็นการส่งเสริมให้สตาร์ทอัพที่ผ่านกระบวนการบ่มเพาะของดีพร้อม รวม 8 กิจการ ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ โดยมีบริษัทร่วมลงทุนภาคเอกชน (VC/CVC) เข้าร่วมงาน อาทิ บริษัท อีซีจี เวนเจอร์ แคปปิตอล จำกัด บริษัท เน็กซเตอร์ เวนเจอร์ส จำกัด บริษัท แมกซ์ เวนเจอร์ส จำกัด บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด REAPRA PTE LTD บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด และบริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) ที่พร้อมสนับสนุนการต่อยอดนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ “Co-creation หรือ หรือ นวัตกรรมร่วมที่เกิดจากการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรภาคเอกชนจะเป็นเรือธงที่ใช้ขับเคลื่อนส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในปี 2566 ซึ่งนอกจากการทำงานร่วมกันแล้ว จะเพิ่มเติมการทดลองนวัตกรรมในหน่วยงานภาครัฐ
โดยนำร่องที่กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นสนามสำหรับการทดลองนวัตกรรมผ่าน “ดีพร้อมสตาร์ทอัพเพลย์กราวด์ (DIPROM Startup Playground)” เพิ่มโอกาสในการขยายตลาด ทั้งยังช่วยให้กระบวนการทำงานของภาครัฐเกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วยนวัตกรรมและโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ตลอดการดำเนินงานในปีนี้สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นให้กับผู้ประกอบการในโครงการได้กว่า 350 ล้านบาท” นายเจตนิพิฐ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับภาพประกอบต่างๆ สามารถดาวโหลดได้ที่ https://drive.google.com/drive/u/2/folders/1gPvmv8tLco94DZO0vh3ub9rT8TGrG33S