ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส.ชี้ราคาสินค้าเกษตรพุ่ง
ศูนย์วิจัยฯและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร พ.ค.นี้ ทะยานสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าข้าว เหตุเพราะโรงสีเร่งกักตุนข้าวเปลือก หลังเห็นสถานการณ์ภัยแล้งคุกคามหนัก ด้านสินค้าเกษตรอื่นๆ ก็มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นตามกันไป
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ได้คาดการณ์ว่า ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.11-1.58 อยู่ที่ราคา 7,837-7,952 บาท/ตัน เพราะภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังเสียหาย ทำให้ปริมาณออกสู่ตลาดลดลง ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.17-0.48 อยู่ที่ราคา 15,665-15,711 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.36-0.53 อยู่ที่ราคา 10,683-10,702 บาท/ตัน เนื่องจากความกังวลจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ผู้ประกอบการค้าข้าวต้องการเก็บข้าวไว้ในสต็อกเพิ่มขึ้น
ขณะที่ น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.00-2.00 อยู่ที่ราคา 12.89-13.03 เซนต์/ปอนด์ (9.12-9.22 บาท/กก.) ตามการเข้ามาซื้อน้ำตาลคืนจากตลาดของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร เนื่องจากการคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลในประเทศบราซิล และอินเดียมีแนวโน้มลดลง จากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการปรับสัดส่วนใช้น้ำตาลเพื่อผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มขึ้น ทำให้สต็อกน้ำตาลทรายลดลง ยางพาราแผ่นดิบ ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.19-2.44 อยู่ที่ราคา 45.52-46.55 บาท/กก. เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูยางพาราผลัดใบ และมาตรการจำกัดการส่งออกยางพาราของประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทำให้ปริมาณผลผลิตในตลาดโลกลดลง และสุกร ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 – 2.68 อยู่ที่ราคา 69.00 – 70.50 บาท/กก. เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นจากความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจากการที่เวียดนามและกัมพูชา พบการระบาดของโรค AFS ประกอบกับสภาวะอากาศร้อน ส่งผลให้สุกรเจริญเติบโตช้า ทำให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลง
ด้านสินค้าเกษตรที่จะมีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.20-0.80 อยู่ที่ราคา 7.73-7.77 บาท/กก. เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณผลผลิตสะสมค่อนข้างมาก ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังทรงตัว มันสำปะหลัง ราคาจะลดลงเล็กน้อย ที่ร้อยละ 0.94 -2.50 อยู่ที่ราคา 2.10-2.07 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการส่งออกไปจีนมีแนวโน้มลดลงจากเงินบาทที่แข็งค่า ปาล์มน้ำมัน ราคาจะปรับลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50 – 1.50 อยู่ที่ราคา 1.93 – 1.95 บาท/กก. เนื่องจากปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการใช้ในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มลดลง และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาจะลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.68 – 2.03 อยู่ที่ราคา 145.00 – 147.00 บาท/กก. เนื่องจากคาดว่าปริมาณผลผลิตในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอินเดียและเวียดนามที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ส่งผลให้ราคากุ้งในตลาดปรับโลกลดลง.