“บิ๊กฉัตร” งัดมาตรการคุมแล้งต่อหน้าฝน
หลัง สทนช. ชี้ 12 จังหวัด เสี่ยงขาดน้ำกินน้ำใช้ รองนายกฯ ฉัตรชัย สั่งทุกหน่วยเดินหน้าบูรณาการบรรเทาแล้งก่อนสิ้นฤดู เข้ม 12 จังหวัดเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค พร้อมย้ำเร่งตรวจสอบความพร้อมแหล่งน้ำ อาคารบังคับน้ำ ความมั่นคงเขื่อน และเครื่องจักรเครื่องมือล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝนปลายเดือนนี้
วันนี้ (1 พ.ค.62) พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2562 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ยังมีภาวะเสี่ยงประสบภัยแล้งอยู่จึงได้สั่งการ กำชับ และเน้นย้ำทุกหน่วยงานซักซ้อมแผนปฏิบัติการของหน่วยงานรับผิดชอบเป็นรายพื้นที่ ทั้งพื้นที่ที่ประกาศภัยแล้งแล้ว 5 จังหวัด รวมถึงพื้นที่เสี่ยงแล้งและขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะเพื่อการอุปโภคเป็นเป้าหมายแรก จากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม ซึ่ง สทนช. ได้วิเคราะห์จากข้อมูลน้ำฝนของกรมอุตุฯ ในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค. 62 ร่วมกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำผิวดินต่างๆ คาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค เนื่องจากขาดแคลนแหล่งน้ำสำรองสำหรับการผลิตน้ำประปา จำนวน 12 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร กำแพงเพชร ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี อยุธยา ชัยนาท อ่างทอง และภาคตะวันตก 1 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ซึ่งขณะนี้ สทนช. ได้จัดทำข้อมูลและแผนที่แสดงแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ให้หน่วยงานใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อใช้ในการวางแผนแก้ไขพื้นที่ขาดแคลนน้ำด้วย
ขณะเดียวกัน ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนงานการแก้ไขปัญหาประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทั้งระยะสั้น โดยใช้งบประมาณของหน่วยงานในพื้นที่ ดำเนินการจัดหาน้ำแจกจ่ายในพื้นที่ประสบภัย โดยใช้รถบรรทุกน้ำ แจกจ่ายน้ำดื่ม จัดซื้อภาชนะบรรจุสำรองน้ำ ซ่อมแซมขุดบ่อบาดาล ซ่อมแซมถังเก็บน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ก่อสร้างและซ่อมแซมระบบกระจายน้ำ และระยะกลาง เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการเพิ่มความจุ แหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำอื่นๆ รวมโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการ มีจำนวนทั้งสิ้น 144 โครงการ งบประมาณ 1,200 ล้านบาท สามารถเพิ่มแหล่งเก็บกักได้ 28.12 ล้านลูกบาศก์เมตร
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ และให้จังหวัดเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประกาศภัยแล้ง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นศูนย์กลางการอำนวยการ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะต้องจัดหมวดหมู่การช่วยเหลือ รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยและการประปาภูมิภาคพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรองในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภค รวมถึงให้หน่วยงานพิจารณาโครงการที่จะสามารถช่วยเหลือบรรเทาปัญหาด้านภัยแล้ง
ทั้งในระยะเร่งด่วนระยะกลางและระยะยาวต่อไป โดยให้ สทนช. นำสภาพปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/62 มาวางแผนปรับปรุงร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งการวางแผนการเพาะปลูกที่ไม่มีการระบุพื้นที่ด้านการเกษตร ขอบเขตที่ชัดเจน โดยให้ประกาศพื้นที่การเพาะปลูกให้ชัดเจนในระดับตำบล ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน ทั้งในเขตชลประทาน กรมชลประทานและกรมการส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบ และนอกเขตชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำและกรมการส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบ การวางแผนการเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ไม่ได้ระบุแหล่งน้ำที่ใช้ การบริหารจัดการน้ำมีการใช้น้ำมากกว่าแผนที่กำหนด ต้องมีการระบุแหล่งน้ำที่อยู่นอกเขตชลประทานให้ชัดเจน โดยมีผู้รับผิดชอบดำเนินการนอกเขตชลประทาน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทยและกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งนำพื้นที่ภัยแล้งที่อยู่ในพื้นที่เกาะมาพิจารณาวางแผนบริหารจัดการเพื่อลดปัญหาภัยแล้งในปีถัดไปด้วย
นอกจากหารือเพื่อติดตามสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือ และการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันยับยั้งการประกาศพื้นที่ภัยแล้งไม่ให้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2562 ตามปฏิทินการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 31 ต.ค. 62 โดยกำหนดมาตรการเป็นรายพื้นที่และสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ เพื่อเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดในแหล่งเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย โดยนำเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ที่ปรับปรุงใหม่สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง
ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบตั้งแต่กลางเดือนนี้เป็นต้นไป เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนตามที่ได้มีการัดทำฐานข้อมูลแหล่งน้ำไว้แล้ว ทั้งแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง เล็ก โดยนำเอาปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาการเก็บกักน้ำร่วมด้วย เช่น สภาพอากาศ การคาดการแนวโน้มของพายุ สถานการณ์ฝนและน้ำท่าทั้งแม่น้ำในประเทศและระหว่างประเทศ โดยกำหนดสถานีหลัก (Key Station) ที่เป็นพื้นที่ที่มีนัยยะสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนจากข้อมูลย้อนหลังที่ผ่านมา และกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำเชิงป้องกัน รวมถึงสถานการณ์น้ำระหว่างประเทศ คือ แม่น้ำโขงที่ได้มีการประสานงานภายใต้กรอบทวิภาคีและพหุภาคีในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำกับจีนและ สปป.ลาว ในช่วงฤดูฝน โดยจีนจะรายงานข้อมูลน้ำ 2 ครั้ง/วัน ตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป ผ่านทางระบบสารสนเทศของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC-IS) ขณะที่ สปป.ลาว ได้เริ่มการใช้งานเขื่อนไซยะบุรี (กั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง) จะรายงานข้อมูลการบริหารจัดการน้ำให้ฝ่ายไทยทราบผ่านทางระบบสารสนเทศของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC-IS) นอกจากนี้ สปป.ลาว ได้ติดตั้งสถานีวัดน้ำเพิ่มเติมบริเวณรอยต่อประเทศจีนและลาว ซึ่งจะทำให้ไทยมีข้อมูลเพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการน้ำด้วย
“รองนายกฯ มอบให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือและสิ่งก่อสร้าง กำจัดวัชพืชเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม–สิ้นเดือนเมษายน และแผนบริหารจัดการน้ำ การเตรียมการด้านบริหารจัดการน้ำหลากรายจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย. เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำหลากรายจังหวัด ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในช่วงก่อนฤดูฝนสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยเบื้องต้น สทนช. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยขอให้จัดทำแผนการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมรายจังหวัด ประกอบด้วย ความพร้อมอาคารรับน้ำที่ตรวจสอบแล้ว วัชพืชกีดขวางทางน้ำ จุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยหรือ น้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมรายชื่อผู้รับผิดชอบที่สามารติดต่อได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ด้วย” นายสมเกียรติ กล่าว
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
1 พฤษภาคม 2562