ธพว. ผนึก บสส. บูรณาการความร่วมมือ ‘G To G’ สร้างโอกาสใหม่ให้ลูกหนี้ด้อยคุณภาพ
ธพว. ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย จับมือ บสส. ผู้เชี่ยวชาญบริหารจัดการหนี้มืออาชีพ ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางธุรกิจ ในรูปแบบ “G To G” ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มหนี้ด้อยคุณภาพ พร้อมจัดเตรียมบริการ “เติมทุนคู่พัฒนา” สร้างโอกาสใหม่พลิกฟื้นธุรกิจ และเข้าถึงแหล่งทุนได้อีกครั้ง
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank โดย นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ร่วมกับ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือSAM โดย นางสิรินารถ แน่งอนงค์ รองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางธุรกิจ (MOU) ในรูปแบบหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานรัฐ (G To G) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในกระบวนการทำงาน เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มหนี้ด้อยคุณภาพ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ ธพว. และนายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการ บสส. ให้เกียรติเป็นสักขีพยานในพิธี
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ ธพว. เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่าง ธพว. และ บสส. ในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานรัฐ (G To G) เพื่อเป้าหมายช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาจากความสามารถในการชำระหนี้ จนกลายเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ให้สามารถกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้ดีอีกครั้ง โดยใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของ บสส. เข้ามาบริหารจัดการ NPLs ด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรน
นายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการ SAM กล่าวว่า นับเป็นความยินดีที่ SAM ในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ภาครัฐที่เป็นหนึ่งวงล้อฟันเฟืองหลักในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) ของประเทศและมีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยมามากกว่า 20 ปี ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางธุรกิจและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือฟื้นฟูลูกค้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของ ธพว. ที่ประสบปัญหาด้านเครดิตให้สามารถกลับมาพลิกฟื้น อยู่รอด อยู่ได้ อยู่เติบโต อยู่ยั่งยืนอย่างมีคุณภาพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประสานความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นต้นแบบและโครงการนำร่องไปสู่โครงการอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ของหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ ของไทย อันจะส่งผลต่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า การร่วมมือทางธุรกิจในครั้งนี้ เป็นการศึกษาความเป็นได้ในการดูแลผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นการดำเนินงานครั้งแรกระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมบูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นหนี้อย่างยาวนาน ให้มีทางออกและเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของ บสส. จะช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มหนี้ด้อยคุณภาพได้คล่องตัว ภายใต้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ผ่อนปรน โดยนำร่องช่วยกลุ่มหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันที่เกิดขึ้นก่อนปี 2558 เงินต้นประมาณ 8,000 ล้านบาท
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ผ่านกระบวนการแก้ปัญหาต่าง ๆ จาก บสส. แล้วเสร็จ ทาง ธพว. พร้อมรับกลับมาเพื่อพาเข้าถึงแหล่งทุนอีกครั้ง ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่าง ๆ ต่อไป ขณะเดียวกัน ธพว. ยังเตรียมโปรแกรมด้าน “การพัฒนา” ภายใต้โครงการ “SME D Coach” ไว้รองรับ ด้วยบริการที่ปรึกษาธุรกิจครบวงจร ช่วยให้ผู้ประกอบการกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน
“เมื่อผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มดังกล่าวกลับมามีความเข้มแข็ง ธพว.พร้อมต่อยอดผ่านกระบวนการด้านการเงิน และการพัฒนา ในโครงการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ลดวงเงินผ่อนชำระเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ และเติมทุนใหม่เสริมสภาพคล่อง นำไปใช้บริหารจัดการธุรกิจ ซื้อวัตถุดิบ เพิ่มกำลังการผลิต หรือสร้างมาตรฐาน เป็นต้น เพื่อให้เขาสามารถกลับมาเดินหน้าธุรกิจเดิมหรือปรับเปลี่ยนธุรกิจใหม่ที่รองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน” นางสาวนารถนารี กล่าวเสริม
นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ SAM กล่าวว่า SAM สนับสนุนการสร้างหรือประสานความร่วมมือทางธุรกิจในลักษณะ “G To G” กับหน่วยงานภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดกิจกรรมหรือการเข้าร่วมงานของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสและเพิ่มช่องทางในการพบปะเจรจา ช่วยเหลือและฟื้นฟูลูกค้า ภายใต้นโยบายการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) ที่มุ่งเน้นการให้โอกาสลูกค้าได้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นสำคัญ รวมทั้งยังให้คำปรึกษาหารือให้ได้ข้อยุติภายใต้แนวทาง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผ่อนปรนอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและประสบปัญหาด้านเครดิตให้มีทางออก สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติหรือสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ