ธพว.ห่วงไทยหลุดมาตรฐาน/เร่งปล่อยกู้เติมพลัง
ธพว. ห่วงเอสเอ็มอีไทยหยุดยกระดับและพัฒนามาตรฐานธุรกิจ หวั่นสินค้าจากจีน-เวียดนามแซงหน้า พร้อมทุ่มงบปล่อยกู้ดอกต่ำ หวังสร้างมาตรฐานธุรกิจในระดับสากล ด้าน ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจ ระบุมาตรฐานธุรกิจ ช่วยเสริมศักยภาพได้จริง
ผลสำรวจการยกระดับมาตรฐานธุรกิจที่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. / SME D Bank) ร่วมกับ ม.หอการค้าไทย กับ 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8-19 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุชัด การมีมาตรฐานคุณภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจของตัวเอง ซึ่ง ร.ศ. ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี ม.หอการค้าไทย ระบุว่า ผู้ประกอบส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานต่างๆ โดย 44.31% “มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานแล้ว” และ 66.17% ในนั้น เป็นมาตรฐานพื้นฐานตามกฎหมายกำหนด ขณะที่ 64.32% เป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานระดับจังหวัด
“เมื่อถามว่า การมีเครื่องหมายรับรองมีประโยชน์ต่อธุรกิจมากน้อยเพียงใด โดยเจาะจงเฉพาะกลุ่มที่มีเครื่องหมายมาตรฐานแล้ว กลุ่มตัวอย่างถึง 99.66% บอกว่ามีประโยชน์ เช่น สามารถขยายตลาดเพิ่มขึ้น ยอดขายเพิ่มขึ้น สินค้าและบริการ รวมถึงองค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในสายตาลูกค้า มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าหรือบริการ เป็นต้น อีกทั้งช่วยให้ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ยอดขายเพิ่มขึ้น กำไรเพิ่มขึ้น ราคาสินค้า/บริการเพิ่มขึ้น สภาพคล่องของธุรกิจดีขึ้น และจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น” ร.ศ. ดร.เสาวณีย์ ย้ำ
ด้าน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และ ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวเสริมถึงกรณีของกิจการที่ยังไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานใดๆ เลย โดยกลุ่มตัวอย่างบอกสาเหตุว่า ขั้นตอนขอ/ต่ออายุยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายสูง กิจการขนาดเล็กไม่จำเป็น คิดว่าขอไปยังไงก็ไม่ได้ และไม่ทราบขั้นตอน เป็นต้น
นอกจากนั้น กลุ่มที่ยังไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานถึง 75.24% ยังระบุว่า ไม่มีความต้องการ โดยสาเหตุ 80.98% บอกว่ากิจการขนาดเล็กไม่มีความจำเป็น ส่วน 24.76% บอกว่า ต้องการจะเครื่องหมายมาตรฐาน เช่น ISO อย. ฮาลาล และมาตรฐานโฮมสเตย์/โรงแรมไทย
“ด้านปัญหาหรืออุปสรรคเกี่ยวกับการขอ/ต่ออายุเครื่องหมายมาตรฐานนั้น 3 อันดันแรก ได้แก่ 1.ขาดความรู้ความเข้าใจ 2.สถานที่ตั้งในการดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปตามเกณฑ์ และ 3.ขาดเงินทุน ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ 39% เชื่อว่า มีศักยภาพเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ ขณะที่ 31.85% ภายใน 1 ปีนี้ มีความต้องการสินเชื่อ เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ เช่น พัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน พัฒนาเครื่องจักรให้ได้มาตรฐาน ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ก่อสร้างหรือต่อเติมร้านค้า/อาคาร และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยวงเงินเฉลี่ยที่ต้องการ คือ 196,012.50 บาท” ดร.ธนวรรธน์ ระบุ และว่า
สิ่งที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ สำหรับการขอ/ต่ออายุเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ได้แก่ การลดขั้นตอนดำเนินการให้มีความสะดวก รวดเร็ว ลดหลักฐานหรือเอกสารต่างๆ สนับสนุนหรือลดค่าใช้จ่าย อนุมัติเครื่องหมายมาตรฐานให้มีความครอบคลุม หรือลดประเภทมาตรฐานลงเท่าที่สามารถเป็นไปได้ อบรมและให้ความรู้ และผู้ให้บริการรับรองมาตรฐานมีความเต็มใจให้บริการ ด้านข้อเสนอแนะและสิ่งที่ต้องการได้รับจาก SME D Bank คือ ให้ความรู้พร้อมอำนวยความสะดวกทั้งด้านดำเนินการและเอกสาร ให้การช่วยเหลือด้านเงินทุนอย่างไม่มีเงื่อนไขหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย และพนักงานให้บริการอย่างรวดเร็วและสุขภาพ
ขณะที่ นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ SME D Bank ยอมรับว่า รู้สึกกังวลใจกับสถานการณ์ “หยุดนิ่ง” ของการยกระดับมาตรการธุรกิจของเอสเอ็มอีไทย ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ ก็น่าเป็นห่วงสำหรับสินค้าไทยที่จะส่งไปขายในต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าจากจีนและเวียดนามมีพัฒนาการมาตรฐานธุรกิจที่เติบโตอย่างมาก
เมื่อถามว่า ภาครัฐจำเป็นจะต้องเปิดรุก ด้วยการบูรณาการร่วมหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน กระทั่งอาจต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่นั้น นายพงชาญยอมรับว่า ถ้าทำได้จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่เพราะไซส์ของ SME D Bank มีขนาดเล็กเกินไป จึงทำได้อย่างที่ต้องทำ โดยพร้อมจะเข้าไปช่วยยกระดับพาเข้าสู่มาตรฐาน ผ่านกิจกรรมเติมทักษะต่างๆ เช่น อบรม สัมมนา เป็นต้น
ทั้งนี้ รายที่ต้องการเติมทุนเพื่อใช้ในการสร้างมาตรฐาน SME D Bank เตรียมสินเชื่อที่เหลือกว่า 30,000 หมื่นล้านบาทไว้รองรับ ผ่านโครงการ “สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” (Local Economy Loan) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีเงินทุน ทำการปรับปรุงยกระดับธุรกิจเข้าสู่มาตรฐาน โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนานถึงสูงสุด 7 ปี โดยกลุ่มบุคคลธรรมดา 3 ปีแรก คิดดอกเบี้ยเพียง 0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี และหากยกระดับเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยจะถูกลงไปอีก 3 ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี
“จากผลสำรวจดังกล่าว บ่งบอกได้ดีว่าการมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน สร้างประโยชน์แก่เอสเอ็มอีมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นช่วยยกระดับธุรกิจให้ได้รับความเชื่อถือ ขยายตลาด เพิ่มรายได้ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการได้รับมาตรฐานต่างๆ แต่ยังไม่สามารถทำได้ โดยขาดปัจจัยสำคัญ คือ ความรู้ และเงินทุน ในฐานะสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา SME D Bank ก็พร้อมจะเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐานธุรกิจต่อไป” นางพงชาญย้ำ.