ลุ้นมาตรการพยุงเศรษฐกิจพรุ่งนี้ อัดเงินใส่บัตรคนจน
ลุ้นมติครม.พรุ่งนี้ (30 เม.ย.) วัดใจรัฐบาลลุงตู่จะเลือกแพกเกจ “พยุงเศรษฐกิจ” ตามข้อเสนอของคลังหรือไม่?เผยอัดฉีดเงินใส่บัตรคนจนเวิร์กสุดๆ มีสิทธิ์ดันเศรษฐกิจปี 62 แตะ 4.0% หลังคลังสั่งปรับยอดส่งออกเหลือแค่ 3.4% พ่วงกดจีพีดีเหลือเพียง 3.8%
ปัจจัยภายนอกประเทศ กลายเป็น “ตัวปัญหา” สำหรับเศรษฐกิจไทยยามนี้ โดยเฉพาะการส่งออกที่เคยเป็นเครื่องจักรกลตัวสำคัญ ทว่าถึงตอนนี้กลับเป็นตัวฉุดรั้งให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ที่กระทรวงการคลังเคยประมาณการช่วงต้นปี ที่ 4.1% เหลือเพียง 3.8% ณ วันแถลงข่าวเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา
นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ “โฆษกกระทรวงการคลัง” ระบุว่า ผลจากปัจจัยลบนอกประเทศ ส่งผลให้กระทรวงการคลังปรับประมาณการการส่งออกใหม่ จากเดิม 4.5% เหลือ 3.4% อันเป็นผลมาจากอุปสงค์จากนอกประเทศที่ชะลอตัว สอดรับกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทย 15 ประเทศและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง รวมถึงผลพวงจากปัญหาการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 1.4% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปัญหาราคาน้ำมันดิบที่ขยับเพิ่มขึ้น หลังจากทางการสหรัฐฯมีมาตรการแซงชั่นรัฐบาลอิหร่าน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยน่าจะยังคงอยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อไป ส่วนค่าเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์อยู่ที่ 32 บาท หรือแข็งค่าประมาณ 1% ทั้งหมดนำสู่คาดการณ์ของดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะเกิดดุลราว 3.78 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6.8% ของจีดีพี
“ทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อจากนี้ จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน โดยเชื่อว่า มาตรการพยุงเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านการใช้จ่ายภายในประเทศ”
“โฆษกกระทรวงการคลัง” ยอมรับว่า เหตุผลที่กระทรวงการคลังต้องยื่นเสนอมาตรการพยุงเศรษฐกิจ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ “ยาแรง” ถึงขั้นกระตุ้นเศรษฐกิจเศรษฐกิจ นั่นเพราะสถานการณ์ในไทยขณะนี้ กำลังเกิดอาการชะงักงัน จำเป็นปลุกความเชื่อมั่นโดยเร็ว ทั้งนี้ ขึ้นกับว่ารัฐบาลและทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเลือกมาตรการใดในการพยุงเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้เสนอความเห็นแนบท้ายไปยังรัฐบาลแล้วว่า มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จากคาดการเบื้องต้น เชื่อว่าเม็ดเงินกว่า 10,000 ล้านบาทในโครงการพยุงเศรษฐกิจช่วง 2-3 เดือนจากนี้ คงจะมีส่วนผลักดันจีดีพีมากสุดคงไม่เกิน 0.1%
โดยหากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ (30 เม.ย.) มีมติเลือกโครงการพยุงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เชื่อว่ามาตรการนี้จะมีส่วนช่วยสร้างระบบ “ทวีคูณ” ได้อย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านที่ได้รับเงินจะนำไปใช้จ่าย กระทั่ง เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหลายรอบ และผลักดันให้จีดีพีขยายตัวได้มากกว่า 0.1% แต่ทั้งหมดนี้ ขึ้นกับการตัดสินใจของรัฐบาล เพราะเป็นเจ้าของเงินในโครงการพยุงเศรษฐกิจรอบนี้
ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจโลกกลับมาอยู่ในภาวะปกติ สิ่งนี้ก็จะมีส่วนช่วยอย่างมากที่จะทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น ตรงนี้ อาจทำให้จีดีพีของปี 2562 อาจกลับมาอยู่ในระดับ 4.0% ได้อีกครั้งหนึ่ง
สำหรับรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม 2562 และไตรมาสที่ 1 ปี 2562 นั้น นายพิสิทธิ์ พัวพัน ผอ.สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ รองโฆษก สศค. กล่าวเสริมว่า มีสัญญาณแผ่วตัวลง จากอุปสงค์ภายนอกประเทศเป็นสำคัญ จากปัญหาการส่งออกที่ชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน เห็นได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) และยอดขายรถยนต์นั่งที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนกลับมีสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องมือเครื่องจักร ที่มียอดลดลงอย่างเป็นเห็นได้ชัด
ด้านสถานการณ์เศรษฐกิจการคลังภูมิภาคนั้น นางวิภารัตน์ ปั้นเปี่ยมรัตน์ ผอ.ส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจการคลัง สศค. ระบุว่า เดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ยังคงขยายตัวได้ดี แม้ว่าจะชะลอตัวจากไตรมาสก่อนไปบ้าง โดยมีการขยายตัวของกรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก เป็นตัวนำ เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค นั่นจึงทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจของภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI) ประจำเดือนเมษายน 2562 นั้น บ่งชี้ว่า แนวโน้มอนาคตยังคงขยายตัวดีทั่วทุกภูมิภาค นำโดย ภาคตะวันออก อันเป็นผลมาจากการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงการขยายตัวของภาคกลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีมาก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรนั่นเอง.