ผลงานกลุ่มแบงก์ Q1/62 ธนาคารพาณิชย์
อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าน่าจะอยู่ในระดับที่ร้อยละ 3.8 ลดลงจากร้อยละ 4.1 ในปี 2561
ท่ามกลางภาวะการชะลอตัวของการค้าโลกและความเสี่ยงจากนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ การส่งออกในสองเดือนแรกของปีชะลอลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันการผลิตในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก ส่งผลให้กิจกรรมการผลิตในประเทศโดยรวมลดลง อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัว สอดคล้องกับรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระยะต่อไป ถึงแม้ว่าความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเพิ่มขึ้นจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน นอกจากนี้ นโยบายเพื่อเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือนซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2562
ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารจำนวน 9,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จากไตรมาส 1 ปี 2561 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.34 เป็นร้อยละ 2.48 ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 28.3 สาเหตุหลักจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง จากผลของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล และจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 3.1 และมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานที่ร้อยละ 42.6
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ รายงานผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในไตรมาส 1/2562 ด้วยกำไรสุทธิรายไตรมาสสูงสุดจำนวน 12.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 104.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยซึ่งเพิ่มขึ้น 95.6% จากการบันทึกกำไรจากการขายหุ้น 50% ในบริษัทเงินติดล้อ จำกัด ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นแสดงถึงศักยภาพที่แข็งแกร่งของกรุงศรีและการบริหารพอร์ตสินเชื่อที่สมดุล รวมทั้งการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
ธนาคารกสิกรไทยและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,044 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 722 ล้านบาท หรือ 6.70% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,556 ล้านบาท หรือ 6.57% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อ และเงินลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.32%
ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2562 จำนวน 9,157 ล้านบาท (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) ลดลง 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานจากกฎหมายแรงงานใหม่ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 29%
ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2562 โดยธนาคารสามารถขยายฐานเงินฝากมาอยู่ที่ 6.61 แสนล้านบาท หรือเติบโต 1.8% จากไตรมาสที่แล้ว ตามการขยายตัวของเงินฝากลูกค้ารายย่อย ด้านสินเชื่ออยู่ที่ 6.87 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.2% หนุนโดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สำหรับกำไรสุทธิมีจำนวน 1,579 ล้านบาท ลดลง 7.2% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการบันทึกค่าใช้จ่าย one-time สำหรับ Employee Retirement Benefit ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ ส่วนคุณภาพสินทรัพย์เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยสัดส่วน NPL อยู่ในระดับทรงตัวที่ 2.81% ขณะที่สัดส่วนสำรองฯ ต่อ NPL (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 145%
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2562 มีกำไรสุทธิจำนวน 325.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 156.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 92.4 เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2561 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานร้อยละ 3.4 และการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ 17.4 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานร้อยละ 8.2