ยูเอ็นชี้ผู้นำทหารเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
รายงานของสหประชาชาติระบุว่า กลุ่มผู้นำกองทัพของเมียนมาต้องถูกสอบสวนจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐยะไข่ และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในพื้นที่อื่นๆ
โดยรายงาน จากพื้นฐานการสัมภาษณ์เหยื่อผู้ประสบเหตุหลายร้อยคน ถือเป็นการประณามอย่างรุนแรงที่สุดจากสหประชาชาติในกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา
ในรายงานยังระบุชื่อ 6 ผู้นำกองทัพที่เชื่อว่าควรจะถูกนำขึ้นศาลเพื่อพิจารณาไต่สวนคดี รวมถึงผู้บัญชาการกองทัพคือนายพลมิงอ่องลาย และยังได้วิจารณ์ นางอองซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลเมียนมาอย่างรุนแรงที่ไม่สามารถแทรกแซงกองทัพเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงครั้งนี้ได้
ข้อความในรายงานยังเรียกร้องให้มีการพิจารณาคดีความรุนแรงนี้ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารมีการกระทำความผิดทั้งฆ่า ข่มขืน ทำร้ายเด็ก และเผาหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเมียนมายืนยันมาโดยตลอดว่า ปฏิบัติการของกองทัพตั้งเป้าที่กลุ่มติดอาวุธ หรือภัยคุกคามจากกลุ่มกบฎเท่านั้น
ทั้งนี้ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นกับรัฐบาล และมีโอกาสน้อยที่เจ้าหน้าที่สอบสวนของยูเอ็นจะเสนอข้อหานี้
รายงานนี้มีหลักฐานเพียงพอที่สนับสนุนการสอบสวน อย่างไรก็ตามการนำตัวผู้นำทหารเมียนมามาพิจารณาคดีที่ ICC เป็นเรื่องยาก เพราะเมียนมาไม่ได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ต้องมีการสนับสนุนจาก 5 ชาติสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงถาวร และจีนมีแนวโน้มที่จะไม่เห็นด้วย
ปฎิบัติการค้นหาความจริงนานาชาติอิสระในกรณีเมียนมาของยูเอ็นมีการจัดตั้งขึ้นในเดือนมี.ค. 2560 เพื่อสอบสวนในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเกิดเหตุการณ์ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา โดยเฉพาะในรัฐยะไข่ ซึ่งการสอบสวนมีขึ้นก่อนที่ทางกองทัพจะเริ่มปฏิบัติการปราบปรามอย่างรุนแรงในรัฐยะไข่เดือนส.ค. ปี 2560 หลังกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาโจมตีทำร้ายเจ้าหน้าที่จนเสียชีวืต
จากการปราบปรามอย่างโหดร้าย ทำให้มีชาวโรฮิงญาอพยพลี้ภัยข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศอย่างน้อย 700,000 คน
โดยอาชญากรรมเกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่น รัฐฉาน และรัฐยะไข่ ทั้งฆาตกรรม กักขัง ทรมาน ข่มขืน บังคับเป็นทาสกาม ทำร้ายและสังหาร และทำให้เป็นทาส ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
ในรัฐยะไข่ รายงานยังระบุถึงการทำลายล้างแบบขุดรากถอนโคน และการเนรเทศ โดยยูเอ็นไม่สามารถเข้าถึงเมียนมาได้เพื่อการทำรายงานนี้ แต่อาศัยจากแหล่งข่าวคือจากการสัมภาษณ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์ ภาพถ่ายทางดาวเทียม รูปภาพและวิดีโอ
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า การละเมิดยังเกิดจากการกระทำของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในรัฐคะฉิ่น และรัฐฉาน และกองทัพกู้ชาติโรฮิงญาแห่งอาระกัน ( Arsa) ในรัฐยะไข่ด้วย
โดยทางยูเอ็นระบุว่า จะเปิดเผยรายงานที่ลงลึกในรายละเอียดมากกว่านี้ในวันที่ 18 ก.ย.ที่จะถึงนี้
จากข้อมูลขององค์กรการกุศลแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) มีชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 6,700 คน ซึ่งรวมถึงเด็กในวัยต่ำกว่า 5 ปีอย่างน้อย 730 คน ที่ถูกสังหารในเดือนแรกของการปราบปรามจากกองทัพ
ทั้งนี้ กลุ่มสิทธิอย่างแอมเนสตีสากลได้เรียกร้องมานานให้มีการดำเนินคดีกับบรรดาผู้นำกองทัพเมียนมาจากการก่ออาชญากรรมกับมนุษยชาติในวิกฤตโรฮิงญา.