เกาหลีใต้ส่งออกครึ่งปีแรกโต
ยอดส่งออกของเกาหลีใต้เติบโตในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้จากดีมานด์ที่แข็งแกร่งสำหรับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และปิโตรเคมี อ้างอิงจากรายงานของรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 ส.ค.
การส่งออก ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจ สูงถึง 296,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในระหว่างเดือนม.ค. – มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 6.3% จากปีก่อน อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน
สินค้าส่งออกที่สำคัญคือชิปและปิโตรเคมี ซึ่งตัวเลขเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 61,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 24,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้
โดยผลิตภัณฑ์น้ำมันส่งออกพุ่งขึ้น 34.3% จากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ขณะที่การส่งออกคอมพิวเตอร์และเครื่องสำอางเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบ 40%
ทั้งนี้ การส่งออกอุตสาหกรรมก้าวหน้าเติบโต 23.9% มีมูลค่าถึง 39,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีแรก โดยอุตสาหกรรมก้าวหน้ามประกอบด้วย รถยนต๋พลังงานไฟฟ้า หุ่นยนต์ ชีวภาพสุขภาพ อากาศยาน พลังงานใหม่ อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ รวมถึงชิปรุ่นใหม่และจอแสดงผล
โดยตัวเลขส่งออกอุตสาหกรรมก้าวหน้าคิดเป็น 13.1% ของยอดส่งออกโดยรวมในช่วงครึ่งปีแรก เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 11.2% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 และ 12.8% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560
ที่น่าสนใจคือตัวเลขส่งออกของรถยนต์ไฟฟ้าที่พุ่งทะยานขึ้นถึง 95.1% ในช่วงครึ่งปีแรก เป็นการเติบโตเร็วที่สุดในบรรดาอุตสาหกรรมก้าวหน้า
และการจัดส่งเซมิคอนดักเตอร์รุ่นใหม่ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพสุขภาพ วัสดุเทคโนโลยีสูง และพลังงานใหม่ มีการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักในช่วงครึ่งปีแรก
ขณะที่มีการเปิดเผยข้อมูลในภาคส่วนการเงินของเกาหลีใต้ว่า การลงทุนของสถาบันการเงินในหลักทรัพย์ต่างประเทศลดลงในไตรมาส 2 เนื่องจากสหรัฐฯขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้มูลค่าของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง อ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เมื่อวันที่ 23 ส.ค.
โดยหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่ถือโดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ อย่างผู้รับประกันภัยและผู้จัดการสินทรัพย์ มีมูลค่าอยู่ที่ 251,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สิ้นสุดเดือนมิ.ย. ลดลง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากไตรมาสก่อน อ้างอิงจาก BOK
ถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2558 เป็นต้นมา เนื่องจากสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้มูลค่าหนี้ของสหรัฐฯลดลง
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมิ.ย.มาอยู่ที่ 1.75 – 2.0% สูงกว่าเป้าของ BOK ที่ 1.5% ขณะที่ทาง BOK งดเว้นการปรับอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่เดือนพ.ย.ปี 2560
ท่ามกลางดอกเบี้ยที่ต่ำเกือบเป็นประวัติการณ์ของเกาหลีใต้ ทำให้นักลงทุนสถาบันการเงินในประเทศซื้อพันธบัตรต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่การโหมซื้อต้องหยุดลง เนื่องจากสหรัฐฯปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้มูลค่าของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯลดลง
ในปี 2559 – 2560 สถาบันการเงินถือครองทรัพย์สินต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเกือบทุกไตรมาส แต่การปรับเพิ่มขึ้นชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้.