ผลสำรวจพฤติกรรม และมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพฤติกรรมและมุมมองของผู้บริโภคมีต่อปัญหาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มการลงทุนด้าน ESG พบว่า
ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นในกรอบไม่เกิน 20% เมื่อเทียบกับราคาปกติ
ความน่าเชื่อถือ และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมด้านการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคพิจารณาเพื่อซื้อสินค้าประเภทเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคให้ความสนใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เช่น อาหาร เครื่องดื่ม สบู่ แชมพู ผงซักฟอก เป็นต้น
ผู้บริโภค 96% มองว่าภาคธุรกิจควรนำประเด็นด้าน ESG มาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ และยินดีแบ่งสัดส่วนการลงทุนจำนวน 10-20% เพื่อลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินการด้าน ESG ถึงแม้ว่าอาจจะได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าผลตอบแทนโดยเฉลี่ยในตลาด
ปัจจุบันผู้บริโภคมีความตระหนักและใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากการเผชิญกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ปัญหาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เรื่อยมาถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ องค์กรต่าง ๆ มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล (ESG) มากขึ้น ทั้งที่เกิดจากการดำเนินการตามข้อกำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล และจากกระแสการผลักดันเพื่อให้การดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการของกิจการ ที่ส่งผลให้กิจการหรือหน่วยงานต่าง ๆ มีการรายงานผลการดำเนินงานดังกล่าวของตนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร อีกทั้งยังเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ลงทุนให้มาลงทุนในกิจการของตนมากขึ้น
ดังนั้น การศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญของภาคธุรกิจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเข้าใจ เพื่อดำเนินการปรับตัว และเตรียมพร้อมรับมือดำเนินการให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคาดหวังต่อมาตรฐานในการทำธุรกิจที่จะต้องคำนึงถึงประเด็นด้าน ESG มากขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและมุมมองความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มการลงทุนด้าน ESG โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของผู้บริโภค ผู้บริโภคทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากที่สุด ได้แก่ ปัญหามลพิษ เช่น น้ำเสีย PM 2.5 ขยะ เป็นต้น รองลงมาคือ สภาพภูมิอากาศที่ความแปรปรวน อุณหภูมิสูงขึ้น รวมถึงภัยธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุรุนแรง ไฟป่า เป็นต้น
ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อผู้บริโภค ทั้งจากปัญหาค่าครองชีพ
ที่เพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรในช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติหรือสภาพอากาศแปรปรวน ค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาสุขภาพที่เกิดปัญหามลพิษ เช่น โรคทางเดินหายใจจากไฟป่า PM 2.5 หรือผลกระทบจากมลพิษทางกลิ่นจากปริมาณขยะที่มากเกินความสามารถในการจัดการ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ปัญหาเหล่านี้ค่อนข้างที่จะเป็นปัญหาใกล้ตัวของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนัก และมีการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอยู่บ้างแล้ว ได้แก่ การลดหรืองดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น พลาสติก มีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ มีการแยกขยะหรือนำของเหลือกลับมาใช้ใหม่ พร้อมทั้งมีการพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน ซึ่งสะท้อนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี พฤติกรรมการเลือกเดินทางด้วยรถสาธารณะแทนการใช้รถส่วนตัวซึ่งจะลดการใช้พลังงาน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก กลับเป็นพฤติกรรมที่ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสนใจน้อยที่สุด ซึ่งอาจสะท้อนถึงระบบการขนส่งสาธารณะที่ควรเร่งพัฒนาให้ดีขึ้น
มุมมองของผู้บริโภคต่อผู้ผลิตในการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันผู้ผลิตมีการปรับตัวเพื่อรับมือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ตระหนักและมีแนวโน้ม
การบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ผู้บริโภคมีมุมมองว่าผู้ผลิตควรมีการออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้หรือขยะ การออกผลิตภัณฑ์ประเภทเติม (refill) เพื่อลดปริมาณขยะ พร้อมทั้งเร่งสร้างความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการว่ายังคงเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและ
มีความปลอดภัย
นอกจากนี้ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการควรควบคุมราคาสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เพิ่มขึ้นในกรอบไม่เกิน 20% เมื่อเทียบกับราคาสินค้าปกติทั่วไป เนื่องจาก ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 66.3% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจ เต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงกว่าสินค้าปกติทั่วไปไม่เกิน 20% ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนน้อยจำนวน 3.4% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจเท่านั้น ที่เต็มใจจะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคา
เท่าเดิมหรือไม่แตกต่างจากสินค้าปกติทั่วไป สะท้อนความพร้อมของผู้บริโภคที่ยินดีจ่ายเงินสูงขึ้นเพื่อเป็นส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี อาจไม่ได้หมายความว่าผู้ผลิตสามารถปรับราคาขายให้เพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนที่ผู้บริโภคยอมรับได้ แต่จะขึ้นอยู่กับคุณค่าของสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสายตาผู้บริโภคว่ามากน้อยแค่ไหน ประกอบกับความสามารถของผู้ผลิตในการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือผลตอบแทน
ที่ลดลงจากการปรับเปลี่ยนมาจำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากน้อยเพียงใดเช่นกัน
ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะมองว่าราคาของสินค้าและบริการที่เป็นมิตร
ต่อสิ่งแวดล้อมจะมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปตามท้องตลาด แต่หากผู้ประกอบการให้ข้อมูลด้านอื่น ๆ เพื่อมาประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค เช่น ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคซื้อจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ไม่มีสารเคมี ย่อยสลายได้ ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ หรือบริษัทมีการทำกิจกรรมเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าดังกล่าวจนหมด จะช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความคุ้มค่าในการจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้บริโภคที่ทำการตอบแบบสำรวจถึง 32.0% มองว่าสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสินค้าที่มีราคาแพง และอีก 10.7% มองว่าสินค้าดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง
ดังนั้น หากธุรกิจสามารถผลิตสินค้าและบริการจำหน่ายในราคาที่ไม่สูงขึ้นมากนัก หรือมีการเสนอโปรโมชันลดราคา ด้วยการกำหนดให้ผู้บริโภคต้องนำภาชนะ เช่น ถุง แก้ว บรรจุภัณฑ์ มาเอง ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ด้านการลดปัญหาหรือผลกระทบที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมจากตัวผลิตภัณฑ์ก็น่าจะจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มมากขึ้น
ประเภทสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีได้รับความสนใจ สำหรับประเด็นด้านประเภทของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคให้ความสนใจหากมีการดำเนินการด้านการลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม จากผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีโอกาสทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสนใจที่จะซื้อสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นอันดับแรก โดยจากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคกว่า 71.4% สนใจที่จะหันมาเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาได้แก่ สินค้าอุปโภคและของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ แชมพู ผงซักฟอก จำนวน 49.3% โดยพบว่าสินค้าทั้งสองประเภทที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากที่สุดเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมประเภทดังกล่าวจะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และควรสนับสนุน ทั้งนี้ ภาคธุรกิจอาจนำประเด็นดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการต่อยอดธุรกิจจากการชูจุดเด่นของสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขายได้
มุมมองของผู้บริโภคต่อการลงทุนด้าน ESG แนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนขององค์กรที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG เป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย และถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีอิทธิพลในสายตาของผู้บริโภคต่อภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือขององค์กรดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในบริษัท ธุรกิจ หรือรัฐบาลที่มีการดำเนินการด้าน ESG พบว่า กว่า 95.8% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่าภาคธุรกิจควรนำปัจจัยด้าน ESG มาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ และ 85.7% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีการนำประเด็นด้าน ESG มาพิจารณา เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน โดยมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่สำคัญ ดังนี้
การแบ่งสัดส่วนการลงทุน หรือการจัดพอร์ตการลงทุน พบว่า คนส่วนใหญ่ (34.3%) จะพิจารณาลงทุนโดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนจำนวน 10 – 20% มาลงทุนในบริษัทที่มีส่วนช่วยทำให้สังคม และสิ่งแวดล้อมดีขึ้น หรือมีการดำเนินการด้าน ESG รองลงมาจำนวน 26.3% จะพิจารณาแบ่งสัดส่วนการลงทุนด้าน ESG ในระดับไม่เกิน 10% ของพอร์ตการลงทุน ในขณะที่ 15.6% ไม่ยินดีที่จะลงทุน หากการลงทุนด้าน ESG จะได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยในตลาด อย่างไรก็ดี การพิจารณาลงทุนขึ้นอยู่ปัจจัยหลายประการ เช่น ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจากผลตอบแทนต่ำในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินอย่างยั่งยืนของธุรกิจที่มีความใส่ใจด้าน ESG และจะนำไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว มาประกอบการพิจารณาลงทุนในกิจการด้าน ESG ได้ นอกจากนี้ กว่า 3 ใน 4 (75.4%) ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีแนวโน้มจะขายสินทรัพย์ทางการเงินหากกิจการที่ลงทุนมีปัญหาเกี่ยวกับประเด็นด้าน ESG
สำหรับกิจการด้าน ESG ที่ผู้บริโภคสนใจลงทุนมากที่สุด ได้แก่ กิจการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ (72.8%) ตามด้วย เทคโนโลยีชีวภาพ เช่น พลาสติกที่ย่อยสลายได้หรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (50.1%) และเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่ม เช่น อาหารที่ทำจากพืช (46.7%)
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อีกทั้งควรต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งมาตรการจูงใจให้ผู้ผลิตหันมาผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาปกติในกรอบที่ผู้บริโภคยอมรับได้ หรือการกำหนดมาตรการแนวบังคับ เช่น การห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อให้ผู้ผลิตปรับเปลี่ยนการใช้ผลิตภัณฑ์บรรจุสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่ให้ความสนใจต่อสถานการณ์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วจึงมีการให้ความสำคัญต่อการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และยินดีจ่ายเงินด้วยราคาที่มากขึ้นในสินค้าหรือบริการดังกล่าวเมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไป หากสินค้าหรือบริการดังกล่าวได้รับการยอมรับ และผู้บริโภคให้คุณค่าว่าสามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้จริง
ทั้งนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเริ่มให้ความสำคัญในสินค้าที่มีการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีราคาไม่แพงก่อน เนื่องจากราคาที่เพิ่มขึ้นนั้น เมื่อคิดเป็นจำนวนเงินอาจเป็นจำนวนที่ไม่มาก ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยมากนัก โดยในอนาคตอาจมีการขยับไปสู่สินค้าที่มูลค่าสูงขึ้น หรือเป็นสินค้าคงทนที่ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน เช่น ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า อาคารที่อยู่อาศัยสีเขียวประหยัดพลังงาน เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น การนำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และประเด็นด้าน ESG ที่รวมถึงประเด็นการดำเนินการด้านสังคม และธรรมาภิบาล เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังให้ภาคธุรกิจต้องมีการดำเนินการ และยังส่งผลต่อการพิจารณาตัดสินใจเพื่อลงทุนในกิจการเหล่านั้น อีกทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจจากการพิจารณาถอนการลงทุนเมื่อธุรกิจเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นความท้าทายที่ผู้บริโภคและผู้ผลิตจะเผชิญกับเงื่อนไข และปัจจัยต่าง ๆ ในบริบทที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นต้องหากลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมกับบริบทเงื่อนไขและสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการ รวมทั้งต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา