ธุรกิจในอังกฤษขาดแคลนแรงงาน
มีรายงานว่า บริษัทหลายแห่งกำลังประสบปัญหาขาดพนักงาน หลังแรงงานจากสหภาพยุโรปที่เดินทางมาสหราชอาณาจักรลดจำนวนลง
โดย 40% ของนายจ้างพบว่าเป็นเรื่องที่ยากขึ้นที่จะหาหาพนักงานใหม่ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา อ้างอิงจากข้อมูลของสถาบันด้านการพัฒนาองค์กรวิชาชีพและทรัพยากรบุคคล (CIPD)
อย่างไรก็ตาม ในรายงานระบุว่า ตลาดแรงงานที่ตึงตัวกำลังหนุนให้ค่าจ้างสูงขึ้นในบางธุรกิจ
สถานการณ์นี้เกิดขึ้นหลังมีคำเตือนว่าจะมีการขาดแคลนแรงงานในหลายภาคส่วน เช่น ด้านสุขภาพและการโรงแรม ตั้งแต่สหราชอาณาจักรมีการโหวตลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิท
อ้างอิงจากตัวเลขทางการ CIPD ระบุว่า จำนวนแรงงานในสหราชอาณาจักรที่เป็นพลเมืองเชื้อชาติสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นเพียง 7,000 คนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 – 2561 จากที่ตัวเลขเคยสูงถึง 148,000 คนในไตรมาสเดียวกันในปี 2559 -2560
องค์กรอุตสาหกรรมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระบุว่า แรงงานขาดแคลนถึง 95% ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘supply shock’ โดยหลายภาคส่วนที่พึ่งพาแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในสหราชอาณาจักรได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งภาคส่วนไอที คมนาคม การเก็บสินค้าและการก่อสร้าง
จากการสำรวจนายจ้างจำนวน 2,000 ราย พบว่าจำนวนผู้มาสมัครงานลดลงในทุกระดับทักษะ ทั้งทักษะในระดับต่ำ ระดับกลาง และระดับสูงตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว
โดยผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขารับผู้สมัครเฉลี่ย 20 คนสำหรับตำแหน่งว่าง เมื่อเทียบกับ 24 คนในฤดูร้อนปี 2560 และในฤดูใบไม้ร่วงปี 2558 และสำหรับตำแหน่งงานว่างที่ต้องการแรงงานทักษะสูง มีจำนวนผู้สมัคร 6 คนเมื่อเทียบกับ 8 คนเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว
ทั้งนี้ การขาดแคลนแรงงานเป็นการหนุนให้เงินค่าจ้างสูงขึ้น แต่ในเวลาของการจ้างงานที่มีปัญหา การเติบโตของค่าจ้างยังคงอ่อนแรง โดยหลายคนโทษอัตราผลผลิตที่ต่ำ
อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) การเติบโตของค่าจ้างลดลงมาอยู่ที่ 2.7% จากเดิม 2.8% ในไตรมาสเดือนพ.ค. แม้อัตราการว่างงานจะลดลงเหลือ 4.2% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา
มากกว่าครึ่งของนายจ้างซึ่งพบว่าเป็นเรื่องยากขึ้นในการรับสมัครงานใน 12 เดือนล่าสุดระบุว่า พวกเขาเพิ่มเงินเดือนเริ่มต้นขึ้นเพื่อเป็นการขานรับกับประเด็นนี้ และในบรรดาหน่วยงานต่างๆที่พบว่ายากขึ้นที่จะรับสมัครพนักงาน มีประมาณ 55% ที่ได้ปรับขึ้นค่าจ้าง โดยเฉพาะสำหรับแรงงานที่มีคุณค่ามากที่สุด
Alex Fleming ประธานที่ Adecco ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดทำการศึกษา ระบุว่า “เบร็กซิททำให้เรามืดมน เรากำลังเห็นการขาดแคลนคนเก่งคนมีฝีมือ และการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น”
“ในสภาวะที่ขาดแคลนผู้สมัคร ความกดดันตกอยู่กับนายจ้างที่ไม่เพียงต้องเสนอค่าจ้างที่ดึงดูดใจผู้สมัครเท่านั้น แต่ยังต้องให้ผลประโยชน์เพิ่มเติมอีกด้วย”.