ผู้เชี่ยวชาญชี้เด็กไม่ควรโหม่งบอล
มีการดีเบตกันเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากการใช้ศีรษะโหม่งลูกฟุตบอลที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านอาการบาดเจ็บทางสมองระบุว่า ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำเช่นนั้น
ดร.Bennett Omalu ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญคนแรกที่ค้นพบเรื่องที่นักฟุตบอลอเมริกันได้รับผลกระทบจากอาการบาดเจ็บจากสมองที่ถูกกระแทกซ้ำๆ หรือที่เรียกว่าโรค CTE กล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อ BBC ว่า เขาตระหนักว่าสิ่งที่เขาชี้แจงอาจสวนทางกับคนอื่น แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สังคมควรให้ความสำคัญ
“ เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ควรได้โหม่งลูกบอลในการเล่นกีฬาฟุตบอล” ผู้เชี่ยวชาญวัย 49 ปี ซึ่งเกิดในไนจีเรียและเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกันให้ข้อมูล
“ เด็กอายุต่ำกว่า 12 – 14 ปี ควรได้เล่นกีฬาฟุตบอลที่มีรูปแบบที่มีการพัวพันถูกตัวกันน้อยลงกว่านี้ ซึ่งเราควรพัฒนาขึ้นเพื่อพวกเขา”
“ เด็กอายุระหว่าง 12 – 18 ปี สามารถเล่นได้ แต่ไม่ควรใช้ศีรษะโหม่งลูกบอล”
“ ผมรู้ว่า นี่เป็นเรื่องยากสำหรับคนจำนวนมาก แต่นี่เป็นประเด็นทางวิทยาศาสตร์ เราเปลี่ยนแปลงด้วยเวลา สังคมควรเปลี่ยน ถึงเวลาของเราที่ต้องเปลี่ยนวิธีการบางอย่างของเรา”
Omalu ซึ่งมีการค้นพบผลกระทบจากอาการโรค CTE ที่มีกับ Mike Webster อดีตผู้เล่นอเมริกันฟุตบอลของทีมพิตสเบิร์ก สตีลเลอร์ในปี 2545 ระบุว่า การเล่นโดยใช้ศีรษะโหม่งลูกบอลเป็นเรื่องอันตรายและควรเป็นข้อห้าม แม้แต่ในการเล่นฟุตบอลระดับอาชีพก็ตาม
“ เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะควบคุมวัตถุที่เคลื่อนตัวในอัตราความเร็วสูงด้วยศีรษะของคุณ”
“ ผมเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว สำหรับการเล่นในระดับอาชีพ เราจำเป็นต้องห้ามไม่ให้มีการใช้ศีรษะโหม่งบอล มันอันตรายมาก” เขากล่าว
โดยผลกระทบจากการโหม่งลูกบอลทำให้เกิดเป็นประเด็นตั้งแต่ การสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของ Jeff Astle อดีตผู้เล่นทีมชาติอังกฤษ และทีมเวสต์ บรอม ที่ระบุว่า เขาเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บทางสมอง โดยการโหม่งลูกฟุตบอลทำจากหนังที่หนักมาก
เขาเสียชีวิตในปี 2547 ในวัย 72 ปี หลังจากทุกข์ทรมานกับอาการโรคอัลไซเมอร์นานเกือบ 10 ปีและเลิกอาชีพนักฟุตบอลที่ยาวนานถึง 16 ปี
ขณะที่ Rod Taylor อดีตนักฟุตบอลอาชีพรายที่ 2 ซึ่งมีอาการบาดเจ็บจากภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากการใช้ศีรษะโหม่งลูกบอล หลังจากครอบครัวของเขาบริจาคสมองเขาให้นักวิทยาศาสตร์เพื่อการวิเคราะห์หลังการเสียชีวิตของเขาในวัย 74 ปีเมื่อช่วงต้นปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของอดีตนักฟุตบอลอาชีพรายอื่น รวมทั้ง Martin Peters , Nobby Stiles และ Ray Wilsom ซึ่งเป็น 3 นักเตะอังกฤษในชุดที่สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกปี 2509 ก็ล้วนแต่มีอาการจากภาวะโรคสมองเสื่อม
“ สมองของคนเราลอยอยู่เหมือนลูกโป่งใบหนึ่งในกระโหลกศีรษะของคุณ ดังนั้น เมื่อคุณโหม่งลูกบอล คุณจะบาดเจ็บจากความเสียหายของสมอง” Omalu กล่าว
“ คุณทำลายสมองของคุณเอง เมื่อคุณโหม่งบอล”
“ การเล่นฟุตบอลจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บทางสมองได้ เมื่อคุณสูงวัยขึ้น และพัฒนาเป็นโรคสมองเสื่อม และ CTE”.