ด่วน!! “อนุทิน” เรียกสธ.ประชุมรับมือฝีดาษลิง
รองนายกรัฐมนตรี “อนุทิน” ประชุมด่วนผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สั่งยกระดับมาตรการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรในระบบสาธารณสุขไทย มั่นใจพื้นฐานจากการรับมือโควิด19 ช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้(24 ก.ค.) เวลา 10.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมแนวทางรองรับโรคฝีดาษวานร ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรียกประชุมด่วนเนื่องมาจากองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานรเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern :PHEIC) เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา และก่อนหน้าการประกาศของ WHO ประเทศไทยก็พบผู้ป่วยยืนยันเป็นรายแรกเป็นชาวไนจีเรีย ที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 และอยู่ในประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย
ในส่วนการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมาขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม สถานการณ์ยังปลอดภัย แต่ขณะนี้ได้มอบหมายให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทั่วประเทศ ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้ระมัดระวังผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ แต่ยังไม่มีความจำเป็นในการประกาศห้ามผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงแต่อย่างใด และการจะประกาศให้ฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อระดับใดนั้นในวันพรุ่งนี้(25 ก.ค.) กรมควบคุมโรคจะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ และประกาศระดับการเฝ้าระวังต่อไป
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่ประเทศไทยดำเนินการในการดูและป้องกันโรคโควิด19 มาได้เป็นอย่างดีมาตลอดจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้สามารถดูแลป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรได้ และมาตรการป้องกันตนเอง Universal Prevention ที่ประชาชนทำอยู่อย่างต่อเนื่องนี้ก็จะสามารถป้องกันได้จากทั้งโควิด19 และฝีดาษวานรได้
อย่างไรก็ตาม แม้ในทางการแพทย์ขณะนี้จะได้ระบุถึงลักษณะของโรคไม่มีความรุนแรง แต่สภาพที่ปรากฏต่อคนทั่วไปมันดูแล้วน่าตระหนกโดยเฉพาะบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการมีมีตุ่มน้ำ หนอง ผื่นตามลำตัวดูแล้วไม่ใช่โรคผิวหนังธรรมดา และหากมีการสัมผัสก็แพร่เชื้อได้ จึงควรจะต้องยกระดับการเฝ้าระวัง มีระบบในการดูแลกรณีที่ผู้ป่วยเข้ามาในโรงพยาบาล ให้พิจารณาว่ากรณีมีผู้ป่วยเข้าข่ายจะมีขอควบคุมรักษาก่อนได้หรือไม่ รวมถึงดูแลเรื่องความพร้อมของเวชภัณฑ์ วัคซีน มีมาตรการในสาธารณสุขในการป้องกันแพร่เชื้อคัดกรองอให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขให้ได้ต่อเนื่อง
“ขณะนี้เรากำลังจะไปได้ดีการฟื้นตัวจากโควิด19 หากไปตามสถานที่ท่องเที่ยวจะเห็นว่าความคึกคักเริ่มกลับมา นักท่องเที่ยวมากขึ้นทั้งไทยและต่างชาติ เป็นนิมิตหมายอันดี เป็นความสำเร็จที่ทำให้ให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นเราได้” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขได้เรียกประชุมด่วนผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข หลังจาก WHOประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยการประชุมดำเนินการแบบคู่ขนานทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์