ผลสอบชี้ ม.แพทย์ญี่ปุ่นตัดคะแนนนร.หญิง
มหาวิทยาลัยแพทย์ของญี่ปุ่นตัดคะแนนสอบเข้าของนักเรียนหญิงมานานอย่างน้อย 10 ปี คณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้แถลงผลสอบสวนเมื่อวันที่ 7 ส.ค. โดยระบุว่าเป็นจุดยืนการเลือกปฏิบัติที่ร้ายแรงมาก แต่ทางเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมที่ผู้หญิงได้เปล่งประกายความสามารถ แต่ผู้หญิงในญี่ปุ่นกลับต้องต่อสู้กับการจ้างงาน และเผชิญกับปัญหาการทำงานหลังคลอดบุตร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราการเกิดของญี่ปุ่น
การปรับเปลี่ยนคะแนนถูกเปิดเผยในการสอบสวนภายใน จากการถูกกล่าวหาเรื่องการทุจริตในฤดูใบไม้ผลินี้ โดยกรณีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสำหรับมหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียว ก่อให้เกิดความไม่พอใจและการประท้วงตามมา
ทนายมีการกล่าวหาเรื่องการรับสินบนในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของบุตรชายเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อมีการยอมรับว่ามีการเพิ่มคะแนนให้เขาและนักเรียนชายคนอื่นอย่างไม่ยุติธรรม โดยมีกรณีหนึ่งที่เพิ่มคะแนนให้มากถึง 49 คะแนน
ทางมหาวิทยาลัยยังยอมรับว่า เน้นการเพิ่มคะแนนให้นักเรียนชาย และลดคะแนนของนักเรียนหญิงลง เพราะมองว่า ผู้หญิงไม่ยึดมั่นกับอาชีพและมีแนวโน้มที่จะออกจากงานหลังจากมีบุตร หรือเพราะเหตุผลอื่นๆ
“ เรื่องนี้น่าเสียใจจริงๆ ด้วยกระบวนการรับนักศึกษาที่หลอกลวง พวกเขายังหลอกลวงนักเรียนผู้เข้าสอบ ครอบครัวของเด็กๆ ทางมหาวิทยาลัย และสังคมโดยรวมด้วย ” ทนายความเคนจิ นากาอิกล่าวในงานแถลงข่าว
“ หลายปัจจัยที่ชี้ว่ามีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติกับผู้หญิงอย่างร้ายแรงเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้” นากาอิ หนึ่งในทนายความจากภายนอกที่มหาวิทยาลัยจ้างให้มาสอบสวนเหตุการณ์นี้ให้ความเห็น
จากการสอบสวนพบว่า มีการเพิ่มคะแนนให้นักเรียนชาย หลังจากสอบตกหนึ่งครั้ง หรือสองครั้ง ขณะที่นักเรียนหญิงทั้งหมด และชายที่สอบตกอย่างน้อย 3 ครั้งจะไม่มีการเพิ่มคะแนนให้
แต่ทนายความระบุว่า พวกเขาไม่รู้ว่ามีผู้หญิงมากแค่ไหนที่ได้รับผลกระทบ แต่หลักฐานจากคะแนนสอบของนักเรียนหญิงชี้ว่ามีการกดคะแนนผู้หญิงย้อนไปอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษ
ในการแถลงข่าว บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างโค้งคำนับและกล่าวขอโทษ โดยให้คำมั่นว่าจะพิจารณาการแก้ปัญหาอย่างจริงใจ เช่น เงินชดเชย อย่างไรก็ตาม พวกเขากล่าวว่า พวกเขาไม่ทราบถึงการจัดการควบคุมในเรื่องนี้
“สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเราจำเป็นต้องขานรับกับเรื่องนี้ และการจัดการใดๆที่ไม่ตอบสนองผู้หญิงจะอ่อนแอลง” เทตสึโอ ยูกิโอกะ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและประธานคณะกรรมการส่งเสริมที่สร้างความขัดแย้ง
จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีความเห็นจากรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้
การเลือกปฏิบัติกับผู้หญิงในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่สุด โยชิมาสะ ฮายาชิ รมว.กระทรวงศึกษาธิการกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
รายงานเรื่องนี้ทำให้ผู้หญิงต่างพากันบอกเล่าประสบการณ์การถูกแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติของตัวเองบนโซเชียลมีเดียด้วยการติดแฮชแท็ก # มันโอเคที่จะโกรธการเหยียดเพศ
หลายคนอ้างถึงค่าใช้จ่ายในสังคมของญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว
“ ฉันอายุ 29 และคงจะไม่แต่งงาน” ผู้หญิงคนหนึ่งโพสต์
“ ผู้หญิงน่าเห็นใจหากไม่ได้แต่งงาน แต่ผู้หญิงญี่ปุ่นที่แต่งงาน และทำงาน และมีลูกจะจบลงด้วยการได้นอนน้อยกว่าทุกคนในโลกนี้ ตอนนี้เมื่อได้ยินว่าทักษะของเราถูกกดทับ ทำให้ฉันตัวสั่นเพราะความโกรธ”
อีกคนโพสต์ว่า “ ฉันทำเป็นไม่สน ที่พ่อแม่บอกว่าผู้หญิงไม่ควรต้องเรียนและเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น แต่ในการสัมภาษณ์งาน มีคนบอกฉันว่า ถ้าคุณเป็นผู้ชาย เราจะจ้างคุณตอนนี้เลย”
“ ศัตรูของฉันไม่ใช่พ่อแม่หรอก แต่เป็นสังคมโดยรวมต่างหาก” เธอโพสต์.