คาดเวเนซุเอลาเงินเฟ้อถึง 1 ล้าน%
สถานการณ์เศรษฐกิจในเวเนซุเอลาเป็นหนึ่งในหายนะทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เนื่องจากราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นจนควบคุมไม่ได้ในแต่ละวัน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ระบุในสัปดาห์นี้ว่า เวเนซุเอล่าติดอยู่ในวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมในขั้นลึกสุด และเงินเฟ้อจะสูงถึง 1,000,000% ภายในสิ้นปีนี้ โดย IMF ยังได้เปรียบเทียบสถานการณ์ในเวเนซุเอลากับเยอรมนี ที่ย้อนไปในปี 2466 และซิมบับเวในช่วงปลายทศวรรษของปี 2543 เนื่องจากความต้องการเงินที่ทรุดตัวลงนำไปสู่ราคาสินค้าที่สูงเป็นประวัติการณ์และประเด็นทางสังคมที่ร้ายแรง
“ เงินเฟ้อที่สูงเกินไปทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก ทำให้นักลงทุนต่างชาติตื่นกลัว ทำลายความมั่นใจของธุรกิจในประเทศ ทำลายมูลค่าเงินออมและค่าจ้างของครัวเรือน และยังทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว” Francesco Filia ประธานกรรมการบริหารกองทุน Fasanara Capital ที่มีสำนักงานในกรุงลอนดอน กล่าวกับสื่อ CNBC ผ่านทางอีเมล
“ ทำให้มีความเสียหายอย่างต่อเนื่อง และควบคุมเงินทุนไม่ได้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว มันยากมากที่จะหยุด และความเชื่อถือในรัฐบาลก็ถูกทำลายย่อยยับ” เขาเสริม
“ น่าเศร้า นี่เป็นเรื่องยาวของการจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาด” Zsolt Papp ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนหนี้ประเทศเกิดใหม่ที่ J.P.Morgan Asset Management กล่าวให้สัมภาษณ์สื่อ CNBC ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 27 ก.ค.
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำให้ประเทศร่ำรวยมาก ถือเป็นประเทศแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยการส่งออกน้ำมันคิดเป็น 90% ของการส่งออกทั้งหมด เมื่อราคาน้ำมันตกต่ำในปี 2557 รายได้จากน้ำมันก็ลดดิ่งลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่
การปกครองของประธานาธิบดีนิโคลาส มาดูโร ซึ่งมาแทนอดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซในปี 2556 เลือกที่จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนทางการที่มีมูลค่าสูงเกินจริง และควบคุมการเข้าถึงเงินดอลลาร์สหรัฐฯของรัฐบาลอย่างเข้มงวด ซึ่งหมายความว่า เป็นเรื่องยากขึ้นสำหรับชาวเวเนซุเอลาที่จะแลกเงินโบลิวาร์ ซึ่งเป็นสกุลเงินประจำชาติกับดอลลาร์สหรัฐฯ นี่ทำให้ปริมาณเงินโบลิวาร์มีมากขึ้น และส่งผลทำให้การนำเข้าสินค้าลดลง เมื่อการนำเข้าสินค้าน้อยลง จะหนุนราคาสินค้าในประเทศให้สูงขึ้น ทำให้ระดับเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ปัญหาเศรษฐกิจในเวเนฯ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากทิศทางการเมืองของมาดูโร แทนที่จะตัดการใช้จ่าย ( ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้สนับสนุนเขา ) มาดูโรกลับเลือกที่จะพิมพ์ธนบัตรออกมามากขึ้น ยิ่งทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีก
นอกจากนี้ เวเนฯยังได้รับผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ สหรัฐฯห้ามไม่ให้มีการทำข้อตกลงในการสร้างหนี้ใหม่กับเวเนฯและบริษัทน้ำมันของรัฐบาล เนื่องจากสหรัฐฯ มองว่ามาดูโรปกครองประเทศแบบเผด็จการ
จากปัญหาเศรษฐกิจที่ร้ายแรง ทำให้พลเมืองชาวเวเนฯ อพยพหนีออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก อ้างอิงจากข้อมูลของสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อเดือนพ.ค. ปี 2560 ระบุว่า มีประชาชนมากกว่า 1.5 ล้านคนที่เดินทางออกจากเวเนฯ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
“ คนนับพันยังคงหลบหนีเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านอย่างผิดกฎหมายในแต่ละวัน” รายงานระบุ โดยเสริมว่า พลเมืองเวเนฯ มีแนวโน้มที่จะเดินทางออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่องในปี 2561 นี้
จำนวนคนที่หนีออกนอกประเทศทำให้ปัญหาเศรษฐกิจยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะไม่เพียงจะเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘สมองไหล’ เท่านั้น แต่ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีกด้วย.