แถลงข่าวส่งหมูป่ากลับบ้าน
ปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตทีมหมูป่าที่เป็นข่าวดังทั่วโลกมานานหลายสัปดาห์ถึงเวลาสิ้นสุดลงเมื่อมีการแถลงข่าวส่งทุกคนกลับบ้านอย่างเป็นทางการที่อบจ.เชียงรายเมื่อเย็นวันที่ 18 ก.ค.และมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ
เด็กๆและโค้ชทีมหมูป่าดูสดใสและผ่อนคลายในการให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกของพวกเขา พร้อมกับเจ้าหน้าที่หน่วยซีลและพท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน โดยเด็กๆอยู่ในชุดนักฟุตบอลทีมหมูป่าทำความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงการณ์ ก่อนที่พวกเขาจะบอกจะเล่าประสบการณ์ในถ้ำให้ทุกคนได้รับรู้ ตามลำดับดังนี้
1.พวกเขาหลงในถ้ำได้อย่างไร
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.หลังจบการซ้อมฟุตบอลแล้ว โค้ชเอก (เอกพล จันทวงศ์) เล่าวว่า ทั้งกลุ่มตกลงกันที่จะไปเดินเล่นสำรวจถ้ำหลวงเป็นครั้งแรก “ เรากะว่าจะไปแค่ชั่วโมงเดียว” เขาเล่า
เขาชี้แจงว่าเด็กๆไม่ได้เข้าไปเพื่อฉลองวันเกิดอย่างที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้ โดยเด็กคนหนึ่งคือ น้องไนท์ ที่มีวันเกิดวันนั้นบอกว่าต้องรีบกลับบ้านก่อน 17.00 น.เพราะพ่อแม่เตรียมจัดงานวันเกิดครบ 17 ปีไว้ให้เขา
“ เราเดินกันไปตามปกติ แต่หลังจากเข้าไปในถ้ำ เราก็รู้ว่าเราติด ออกจากถ้ำไม่ได้ ” โค้ชเอกเล่า ทั้งกลุ่มสังเกตเห็นระดับน้ำในถ้ำที่เพิ่มขึ้น จากที่พวกเขาสามารถว่ายได้ เลยทำให้พวกเขาต้องหนีน้ำเข้าไปในถ้ำ (โค้ชเอกแก้ข่าวว่า พวกเด็กๆว่ายน้ำเป็นทุกคน แต่มีบางคนที่อาจว่ายไม่แข็งเท่าคนอื่น)
“ น้องบางคนถามว่าเราหลงทางหรือเปล่า ผมบอกว่าเราไม่ได้ไปผิดทางเลย ” โค้ชเอกเล่าว่า หลังจากรู้ตัวว่าพวกเขาหลงทาง ก็เดินต่อไปจนพบจุดที่เป็นทรายแห้ง “ เราอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เรานอนบนทราย ก่อนที่จะหลับ เราสวดมนต์ เราคิดว่าตอนเช้าน้ำคงลดและคงมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยพวกเรา ตอนนั้นเราไม่กลัวเลย ”
2.พวกเขาใช้ชีวิตอย่างไรในถ้ำ
ช่วงที่พักรอ พวกเขาพยายามเดินไปรอบๆและพยายามหาทางออก โดยใช้ไฟฉายอย่างระมัดระวัง โค้ชเอกเล่า
แต่เวลาผ่านไป เด็กๆก็เริ่มอ่อนล้า ไม่มีแรง เด็กคนหนึ่งคือน้องไตตั้นเล่าว่า พวกเขาดื่มน้ำจากหินย้อยในถ้ำ แต่ไม่มีอาหารให้กินเลย
“ ผมหน้ามืด ไม่มีแรงและหิวมาก ผมพยายามไม่คิดถึงอาหาร เพราะจะทำให้ผมหิว ” น้องไตตั้นเล่า
“ เราพยายามขุดหาทางออก เราขุดผนังถ้ำ ไม่อยากรออยู่เฉยๆจนเจ้าหน้าที่มาพบเรา ” โค้ชเอกเล่า นอกจากนี้ พวกเขาแก้เบื่อด้วยการเล่นหมากฮอสในถ้ำ
3.ช่วงที่เจอทีมกู้ภัย
ด.ช.อดุลย์ สามอ่อน วัย 14 ปี ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษโต้ตอบกับนักดำน้ำชาวอังกฤษที่เจอพวกเขาเป็นกลุ่มแรกได้เล่าให้ฟังว่า “ เรานั่งอยู่บนหิน เราได้ยินเสียงคนพูดกัน โค้ชบอกพวกเราให้เงียบและตั้งใจฟัง” เขาฉวยไฟฉายจากเพื่อนลงไปข้างล่างและลงไปหานักดำน้ำ และทักว่า
“ ไฮ” “ ผมอึ้งว่าพวกเขาเป็นฝรั่ง ก็เลยทักว่า เฮลโล พวกเขาถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ผมก็ว่า ผมโอเค ผมถามพวกเขาว่าให้ช่วยอะไรมั้ย พวกเขาบอกว่าไม่ต้อง และให้ผมขึ้นไปอยู่ข้างบน แล้วเขาก็ถามว่า พวกหนูมีกันกี่คน ?”
อดุลย์เล่าว่า ตอนนั้นพวกเขาอยู่ในถ้ำมา 9 วันแล้ว “ พวกคณิต อังกฤษอะไรก็นึกไม่ออกเลย ”
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่หน่วยซีลก็ตามเข้ามา เอาอาหารมาให้พวกเด็กๆ มีเจ้าหน้าที่หน่วยซีลคนหนึ่งชื่อ พี่ใบเตย ที่เป็นขวัญใจของเด็กๆทุกคน เพราะเขาสวมแต่กางเกงชั้นในตัวเดียว ห่มแค่ผ้าห่มฟอยล์ และเป็นคนสนุกสนานเฮฮา ชวนเด็กๆเล่นหมากฮอส และเขาเองเล่นเก่งเป็นแชมป์หมากฮอสในถ้ำ เด็กๆเล่าว่า รู้สึกสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่หน่วยซีล รู้สึกเหมือนเป็นพ่อของพวกเขา เพราะพี่ใบเตยเรียกพวกเขาว่าลูก
4.ความรู้สึกเกี่ยวกับความเสียสละของหน่วยซีล
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยซีล จ่าสมาน กุนัน หรือ จ่าแซม ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ขณะติดตั้งถังอากาศในถ้ำ โค้ชเอกบอกว่า ทุกคนตกใจและเศร้ามากเมื่อรู้ข่าว
“ พวกเด็กๆรู้สึกว่าพวกเขาทำให้คุณจ่าต้องเสียชีวิต และครอบครัวของเขาต้องเสียใจ ” เขากล่าวและเสริมว่า “ จ่าแซมสละชีวิตเพื่อช่วยพวกเรา เราจะทำตัวและใช้ชีวิตให้ดีที่สุด ” พวกเด็กๆและโค้ชเพิ่งทราบข่าวจ่าแซมเมื่อวันที่ 14 ก.ค.หลังคณะแพทย์ลงความเห็นว่า พวกเขาแข็งแรงเพียงพอที่จะรับทราบข่าวนี้แล้ว
5.เลือกเด็กๆอย่างไรว่าใครจะได้ออกมาจากถ้ำก่อน
โค้ชเอกเล่าถึงแผนการที่มีการปรึกษากันกับเจ้าหน้าที่หน่วยซีลและนักดำน้ำในการพาเด็กๆออกจากถ้ำ โดยบอกว่า ไม่มีการเรียงลำดับว่าใครควรได้ออกมาก่อนตามลำดับความแข็งแรงของร่างกายแต่อย่างใด
“ ผมถามเด็กๆ เด็กบอกว่า ใครออกก่อนก็ได้ ผมเลยเลือกจากคนที่อยู่บ้านไกลก่อน คิดว่าให้พวกเขาปั่นจักรยานกลับไปที่บ้านและให้ที่บ้านเตรียมอาหารให้เรา ”
พท.นพ.ภาคย์ โลหารชุนเล่าว่า เด็กทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะพาออกจากถ้ำ ดังนั้นใครออกจากถ้ำก่อนก็ได้ โค้ชเอกกล่าวว่า ให้เด็กๆยกมือว่าใครจะออกก่อน บางคนยังบอกว่าไม่อยากออกเลย อยากอยู่กับพี่ๆหน่วยซีลต่ออีก หมอภาคย์เล่าว่าเด็กๆชอบอาหารที่ทานในถ้ำมาก รู้สึกว่าอร่อยจนต้องเก็บใส่ชุดดำน้ำออกมาด้วย
หลังจบการแถลงข่าว พวกเด็กๆและโค้ชก็ขึ้นรถตู้กลับบ้านพร้อมครอบครัวในคืนวันที่ 18 ก.ค. โดยนักจิตวิทยาแนะนำว่า เด็กๆไม่ควรให้สัมภาษณ์สื่อเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน.