ญี่ปุ่น/อียูตกลงลดภาษีร่วมกัน
สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นลงนามในข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ว่าจะมีการลดภาษีลงเกือบทั้งหมดสำหรับสินค้าที่ค้าขายระหว่างกัน
โดยมีการลงนามข้อตกลงในกรุงโตเกียวเพื่อรับมือกับมาตรการขึ้นภาษีจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ที่บังคับใข้กับการนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ข้อตกลงนี้ครอบคลุม 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจทั่วโลก และตลาดของประชากรมากกว่า 600 ล้านคน
“ อียูและญี่ปุ่นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะนำโลกด้วยการชูธงการค้าเสรี ” นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่นระบุในการแถลงข่าวร่วมกันกับ Donald Tusk ประธานสภายุโรป และ Jean-claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป
โดย Tusk ยกย่องข้อตกลงนี้ว่าเป็นข้อตกลงการค้าทวิภาคีที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เขาระบุว่าการเป็นหุ้นส่วนกันมีความแข็งแกร่งขึ้นในหลายภาคส่วน ทั้งกลาโหม สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการแลกเปลี่ยนทรัพยากรมนุษย์ และเป็นการส่งสารต่อต้านที่ชัดเจนต่อนโยบายการกีดกันทางการค้า แม้บรรดาผู้นำทั้งจากญี่ปุ่นและอียูไม่ได้เอ่ยถึงชื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็จริง แต่ดูเหมือนสิงที่พวกเขาทำดูจะเป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวของทรัมป์
มาตรการนี้จะยังไม่เริ่มต้นโดยทันทีและยังคงต้องรอกระบวนการอนุมัติทางกฎหมาย แต่จะมีผลทำให้สินค้าจากยุโรปมีราคาถูกลงสำหรับผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น ทั้งไวน์ เนื้อหมู กระเป๋าถือ และเวชภัณฑ์ ขณะที่ชิ้นส่วนเครื่องจักร ชา และปลาจากญี่ปุ่นจะมีราคาถูกลงในยุโรป
ข้อตกลงนี้จะลดภาษีลงได้ถึง 99% สำหรับสินค้าญี่ปุ่นที่ส่งไปขายที่อียู จะมีการยกเลิกภาษีประมาณ 94% สำหรับสินค้าส่งออกจากยุโรปไปญี่ปุ่น และจะเพิ่มเป็น 99% ในอนาคต ความแตกต่างสะท้อนถึงสินค้ายกเว้นบางชนิดอย่างข้าว ซึ่งมีการกีดกันไม่ให้มีการนำเข้ามาในญี่ปุ่นด้วยเหตุผลทางการเมือง
Juncker ระบุว่าเกษตรกรในยุโรปจะได้ประโยชน์ แม้ผู้บริโภคชาวยุโรปจะสามารถซื้อเนื้อโกเบและเมลอนยูบาริที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้นด้วย โดยอียูระบุว่าการค้าเสรีจะช่วยหนุนการส่งออกของยุโรปทั้งเคมีภัณฑ์ เสื้อผ้า เครื่องสำอางและเบียร์ไปญี่ปุ่น และญี่ปุ่นจะได้บริโภคสินค้าราคาถูกลง ทั้งชีสหลายชนิด รวมถึงช็อกโกแลตและบิสกิต
ไวน์และชีสนำเข้าอาจส่งผลต่อยอดขายของผู้ผลิตไวน์และชีสของญี่ปุ่นบ้าง แต่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นก็จะมีโอกาสได้บริโภคสินค้าจากยุโรป
ทั้งนี้ ก้าวสำคัญของกระบวนการการค้าเสรีมีการพูดคุยกันตั้งแต่ปี 2556
นอกจากข้อตกลงที่ทำกับอียู ญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าทำงานเพื่อข้อตกลงการค้าอื่นอีก รวมทั้งความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ที่สหรัฐฯประกาศถอนตัวออกไป
นายกฯอาเบะชื่นชมข้อตกลงที่ทำกับอียูที่ช่วยหนุนนโยบาย ‘อาเบะโนมิกส์’ ของเขา โดยนโยบายนี้เป็นความพยายามที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะถดถอย แม้ประชากรจะหดตัวและการใช้จ่ายซบเซา การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกอย่างมาก.