สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 ก.ค. 65
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จ.จันทบุรี (187 มม.) จ.ตราด (128 มม.) และ จ.น่าน (76 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่วนแม่น้ำโขง มีแนวเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 43,734 ล้าน ลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38,111 ล้าน ลบ.ม. (53%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (2 แห่ง)
กอนช. ประกาศ ฉบับที่ 19/2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง
น้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับ ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ
กำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในช่วงวันที่ 8 – 14 กใ8ใ 2565 ดังนี้
1.เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ
ภาคเหนือ จ.เชียงราย (อ.เชียงของ เทิง เวียงแก่น แม่จัน แม่ฟ้าหลวง และแม่สาย) จ.เชียงใหม่ (อ.อมก๋อย) จ.แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองแม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง และสบเมย) จ.ตาก (อ.ท่าสองยาง และอุ้มผาง) จ.น่าน (อ.เฉลิมพระเกียรติ)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครพนม (อ.ธาตุพนม) จ.มุกดาหาร (อ.หว้านใหญ่ และหนองสูง )
ภาคตะวันออก จ.นครนายก (อ.เมืองนครนายก และปากพลี) จ.ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี และนาดี) จ.สระแก้ว (อ.เมืองสระแก้ว) จ.จันทบุรี (อ.เมืองจันทบุรี แหลมสิงห์ ขลุง ท่าใหม่ มะขาม และนายายอาม) จ.ตราด (อ.เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง เมืองตราด แหลมงอบ คลองใหญ่ และบ่อไร่)
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณ แม่น้ำสายหลักและสาขาในพื้นที่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก จันทบุรี และตราด
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการวางแผนรองรับสถานการณ์ต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 8 ก.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 19/2565 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 8 – 14 กรกฎาคม 2565 เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลัก และสาขา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก จันทบุรี และตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมชลประทาน ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำอู่ตะเภา จังหวัดสงขลา โดยเร่งดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองระบายน้ำสายที่ 1 (ร.1) ให้สามารถระบายน้ำได้สูงสุดประมาณ 1,650 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2565
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 7 – 8 ก.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา และตอนบนของภาคเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้
ส่วนในช่วงวันที่ 9 – 13 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 10 – 13 ก.ค. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทย จะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เตรียมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองพระพิมล ณ วัดไทรใหญ่ – วัดไทรน้อย ต.ไทรน้อย อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี พร้อมรับฟังบรรยายความสำคัญของคลองพระพิมล สถานการณ์น้ำ แผนพัฒนาและฟื้นฟูคลองพระพิมล จังหวัดนนทบุรี – จังหวัดนครปฐม พ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๗๐ เพื่อประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่คลองพระพิมล