ทรัมป์ชมทหารสหรัฐฯช่วยทีมหมูป่า
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯทวีตข้อความเมื่อเช้าวันที่ 8 ก.ค.ว่า สหรัฐฯกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยเพื่อช่วยเหลือเด็กๆที่ติดอยู่ในถ้ำที่มีน้ำท่วมสูงในจังหวัดเชียงราย ทางภาคเหนือของไทย
“ สหรัฐฯ กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยเพื่อช่วยเหลือในปฏิบัติการพาเด็กๆออกจากถ้ำอย่างปลอดภัย กล้าหาญและเก่งกาจมาก ” ผู้นำสหรัฐฯ ทวีตบนทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา
ในขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตนั้น ภาพและรายงานข่าวของปฏิบัติการกู้ภัยทีมหมูป่าที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนก็หลั่งไหลเข้ามาในกระแสการรับรู้ของผู้คนตลอดทั้งวัน จนในที่สุด ก็มีรายงานข่าวว่าทีมเจ้าหน้าที่ประสบความสำเร็จสามารถช่วยเหลือเด็กๆ ออกจากถ้ำได้อย่างปลอดภัยแล้ว 4 คนก่อนเวลา 21.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ยุติปฏิบัติการที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เวลา 10.00 น.ของวันที่ 8 ก.ค.
เด็กๆนักฟุตบอลทีมหมูป่า อะคาเดมี่ แม่สาย ของจังหวัดเชียงราย 12 คน วัย 11-16 ปี และโค้ชของพวกเขาหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.หลังจากเข้าไปสำรวจถ้ำอย่างที่เคยทำบ่อยๆ แต่เนื่องจากมีฝนตกหนักฉับพลัน ทำให้น้ำท่วมถ้ำสูงอย่างรวดเร็ว พวกเด็กๆและโค้ชจึงออกมาไม่ได้ และติดอยู่ในถ้ำนานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว
ปฏิบัติการกู้ภัยในวันที่ 8 ก.ค. เป็นความร่วมมือจากหลายชาติ นายณรงศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าจ.พะเยา หัวหน้าทีมปฏิบัติการช่วยเหลือครั้งนี้แถลงข่าวเมื่อจบภารกิจว่า มีนักดำน้ำทั้งหมดถึง 90 คน เป็นต่างชาติประมาณ 50 คน และของไทยประมาณ 40 คนที่ช่วยเหลือประสานงานให้ภารกิจสำเร็จลุล่วง โดยมีผู้ที่เชี่ยวชาญดำน้ำระดับสุดยอดของโลก 13 คนที่ช่วยเหลือพาเด็กๆออกมา
ทั้งนี้ มีเหตุเศร้าสลดเกิดขึ้นในวันที่ 6 ก.ค.ที่เจ้าหน้าที่หน่วยซีลของไทยนายหนึ่งเสียชีวิต จากความพยายามที่จะช่วยเหลือพาเด็กๆ ออกมา
โดยเขาหมดสติในระหว่างการดำน้ำในถ้ำ
ทางการสหรัฐฯรายงานว่า กองทัพสหรัฐฯ ส่งเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพในภูมิภาคแปซิฟิกมาร่วมช่วยเหลือในปฏิบัติการกู้ภัยที่ถ้ำหลวงครั้งนี้ทั้งหมด 36 นาย โดยส่วนใหญ่มาจากฐานทัพอากาศคาเดนะในญี่ปุ่น โดยเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ประกอบด้วย 12 สมาชิกทีมค้นหาและช่วยชีวิต รวมถึงนักดำน้ำ ซึ่งไม่ได้คาดการณ์ว่าจะมีส่วนร่วมโดยตรงกับปฏิบัติการดำน้ำ และเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนจากสถานทูตสหรัฐฯที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ช่วยเหลือในการสรุปปฏิบัติการกับเจ้าหน้าที่ไทยเมื่อวันที่ 6 ก.ค.
นอกจากความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯกับไทยแล้ว ก่อนหน้านี้ สื่อ CNN จากสหรัฐฯ ได้เกาะติดสถานการณ์และรายงานถึงความพยายามของผู้เชี่ยวชาญ และนักดำน้ำจิตอาสาที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการกู้ภัยทั้งหมดจากยุโรป เอเชียและออสเตรเลีย.