แมร์เคิลหนุนอียูลดภาษีนำเข้ารถสหรัฐฯ
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลระบุเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ว่า เธอจะสนับสนุนการลดภาษีของอียูในการนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ เพื่อเป็นการขานรับกับข้อเสนอจากวอชิงตันที่จะยกเลิกภาษีกับรถของยุโรปเป็นการตอบแทน
อย่างไรก็ตาม ผู้นำเยอรมนีเสริมว่า การเจรจาเรื่องภาษีของอียูจำเป็นต้องมีการประชุมกันอย่างรอบคอบ และเรากำลังพยายามทำอยู่
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ออกโรงขู่เมื่อเดือนมิ.ย.ว่า จะตั้งกำแพงภาษี 20% กับรถยนต์และชิ้นส่วน รถยนต์นำเข้าจากยุโรปถือเป็นการยกระดับความตึงเครียดทางการค้าทั่วโลก และอาจเป็นการทำลายอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของอียู และรูปแบบการทำธุรกิจในปัจจุบันในการขายรถในสหรัฐฯ
Richard Grenell เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำเยอรมนี ได้เข้าพบกับผู้บริหารบริษัทผลิตรถยนต์เยอรมัน ทั้งโฟล์กสวาเกน BMW และเดมเลอร์ และซัพพลายเออร์อย่าง Continental ซ้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 ก.ค.เพื่อพูดคุยในประเด็นนี้
โดยแหล่งข่าวกล่าวกับสื่อรอยเตอร์ว่า Grenell ได้เผยให้ผู้บริหารฟังว่า ทรัมป์อาจยกเลิกคำขู่ หากอียูยกเลิกภาษีนำเข้ารถสหรัฐฯก่อน
โฆษกสถานทูตระบุว่า ยังไม่มีข้อเสนออย่างเป็นทางการในเรื่องภาษี และเป้าหมายของ Grenell คือการหาทางเลือกเพื่อการทำข้อตกลงทางการค้าที่กว้างขึ้น “ นี่เป็นกระบวนการที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ” โฆษกระบุ
โดยบริษัทที่เข้าร่วมประชุมทั้งโฟล์กสวาเกน BMW เดมเลอร์ และ Continental ปฏิเสธที่จะเล่ารายละเอียดในการประชุมกับ Grenell เมื่อวันที่ 4 ก.ค.กับสื่อ
หุ้นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์พุ่งขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.ค. จากความหวังว่าภาษีของสหรัฐฯตามที่ทรัมป์ขู่จะไม่เกิดขึ้นจริง หุ้นของโฟล์กสวาเกน BMW และเดมเลอร์ปรับเพิ่มขึ้น 4% จากที่ปิดตลาดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. โดยหุ้น Continental เพิ่มขึ้น 2.5%
นายกแมร์เคิลระบุว่า ความเคลื่อนไหวใดๆเพื่อปรับลดภาษีนำเข้ารถสหรัฐฯ จะต้องลดให้กับรถยนต์นำเข้าจากประเทศอื่นด้วยเพื่อเป็นการปฏิบัติตามกฎขององค์การการค้าโลก
“ ดิฉันพร้อมแล้วที่จะสนับสนุนให้มีการเจรจาลดภาษี แต่เราไม่สามารถทำเฉพาะกับสหรัฐฯได้ ” ผู้นำเยอรมนีกล่าว
VDA องค์การการค้ายานยนต์ของเยอรมันระบุว่า ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการยกเลิกภาษีทั้งสองฝ่ายและอุปสรรคทางการค้าถือเป็นสัญญาณที่ดี
“ ชัดเจนว่า การเจรจาเกิดขึ้นได้ในระดับการเมือง ” แถลงการณ์ของ VDA ระบุ
นโยบายการกีดกันทางการค้าของทรัมป์ ซึ่งมุ่งเป้าที่สินค้านำเข้าจากจีน ได้ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะลุกลามกลายเป็นสงครามการค้าที่เป็นภัยคุกคามทำลายเศรษฐกิจทั่วโลก.