พลิกโฉม “มาเก๊า” มุ่งสู่ความท้าทายใหม่
เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ มาเก๊า ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของจีนติดกับมณฑลกวางตุ้ง มาเก๊ามีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 696,000 ราย และมีพื้นที่ขนาดเล็กเพียง 115 ตารางกิโลเมตร จึงไม่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากนักและพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากการท่องเที่ยว ธุรกิจบันเทิง และคาสิโนที่มีมากถึง 42 แห่ง และมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ลาสเวกัสแห่งเอเชีย” โดยในปี 2562 (ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด) รายได้จากธุรกิจคาสิโนของมาเก๊ามีมูลค่าสูงถึง 1.27 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของจีดีพีมาเก๊าทั้งหมด
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด และมาตรการเข้าเมืองที่เข้มงวดตามแนวทาง “zero dynamic infection” ของรัฐบาลกลาง ทำให้ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา มาเก๊าสูญเสียรายได้จากธุรกิจคาสิโนและการท่องเที่ยวไปมหาศาล ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลกลางจึงประสงค์ที่จะให้มาเก๊าสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (economic diversification) และลดการพึ่งพาธุรกิจคาสิโน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ (economic resilience) และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้มาเก๊าสามารถรับมือกับความท้าทายและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต ผ่านการดำเนินนโยบายและโครงการต่าง ๆ ดังนี้
การปฏิรูปรูปแบบธุรกิจคาสิโน (ทำตัวใหญ่และขนาดมากขึ้น)
เมื่อช่วงเดือนม.ค.65สภานิติบัญญัติมาเก๊าได้เห็นชอบการปรับปรุงกฎหมาย “Gaming Industry Law” ที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี2544 (Amendment to Law No. 16/2001 – Legal framework for the exploitation of games of chance in casinos) เพื่อปรับลดจำนวนระยะเวลาสัมปทานคาสิโนจาก 20 ปี เหลือ 10 ปี และจำกัดจำนวนผู้ได้รับสัมปทานไว้เพียง 6 ราย โดยไม่อนุญาตให้ผู้ได้รับสัมปทานให้สัมปทานช่วงแก่รายย่อย (sub-concessions) และหากมีเหตุจำเป็นก็สามารถขอขยายระยะเวลาสัมปทานได้อีก 3 ปี จากเดิมขยายได้ 5 ปี นอกจากนี้ ยังได้ปรับสัดส่วนผู้ถือหุ้นเพื่อให้ผู้ที่มีถิ่นพำนักถาวรในมาเก๊าเข้าถือหุ้นในคาสิโนเพิ่มขึ้นจากอัตรา 10% เป็น 15%
นอกจากนี้ รัฐบาลมาเก๊ายังได้จัดตั้งกฎระเบียบใหม่เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ได้รับสัมปทานธุรกิจคาสิโน เช่น หากผู้ได้รับสัมปทานประสงค์ที่จะจัดตั้งธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มเติม จำเป็นต้องขออนุญาตจากกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังมาเก๊าก่อน และในทุก ๆ 3 ปี หน่วยงาน Gaming Inspection and Coordination Bureau มาเก๊าจะเข้าทำการตรวจสอบธุรกิจคาสิโน รวมทั้งระบุให้ผู้ได้รับสัมปทานจะต้องทำโครงการ Corporate Social Responsibility (CSR) ที่สนับสนุนวิสาหกิจ SMEs และการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจในเมืองอีกด้วย
การส่งเสริมเป็นฮับทางการเงิน
ที่ผ่านมา รัฐบาลกลางได้ผลักดันและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการเงินของมาเก๊าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มาเก๊าเป็นศูนย์กลางทางการเงินอีกแห่งของจีนและเพิ่มบทบาทของมาเก๊าในโครงการเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Greater Bay Area – GBA) โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลมาเก๊าได้ริเริ่มโครงการด้านการเงินที่น่าสนใจในมาเก๊าหลายโครงการ อาทิ
1.แนวคิดในการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์มาเก๊าที่มีการซื้อ-ขายด้วยสกุลเงินหยวน เพื่อยกระดับศักยภาพและการขยายตัวของอุปสงค์ของเงินหยวนในตลาดโลก
2.โครงการ Wealth Management Connect เพื่อสร้างการบริการทางการเงินแบบข้ามพรมแดนในเขต GBA
3.โครงการ Qualified Foreign Limited Partnership (QFLP) ในเขต Macao – Hengqin Zone เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ฮ่องกง และไต้หวัน ให้ใช้มาเก๊าเป็นฐานการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ (startups) ในจีนโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงินกองทุน/สินทรัพย์ขั้นต่ำในการเข้ามาระดมทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมาเก๊านับเป็นเมืองที่ 11ของจีนที่เข้าร่วมโครงการ QFLP
โอกาส “มาเก๊า” มาแทนที่ฮ่องกง ?
หลายคนอาจตั้งข้อสังเกตว่ามาเก๊าจะกลายมาเป็นคู่แข่งกับเพื่อนบ้านอย่างฮ่องกงที่มีชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศมาอย่างยาวนานหรือไม่ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากจุดขายของเศรษฐกิจมาเก๊าแตกต่างจากเศรษฐกิจฮ่องกง คือ ในขณะที่ฮ่องกงเป็นประตูเชื่อมโลกตะวันตกกับจีน แต่มาเก๊ามีความได้เปรียบจากการใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นหนึ่งในภาษาราชการ จึงทำให้รัฐบาลกลางเห็นว่า สามารถใช้มาเก๊าเป็นสะพานเชื่อมจีนกับตลาดกลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาโปรตุเกส อาทิ โปรตุเกส บราซิล แองโกลา โมซัมบิก และติมอร์เลสเต ที่มีประชากรรวมกันถึง 230ล้านคนทั่วโลก ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13และ 14ของรัฐบาลกลาง รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปีของรัฐบาลมาเก๊า ต่างระบุถึงแผนการจัดตั้งศูนย์ “Complex of Commercial and Trade Co-operation Platform for China and Portuguese Speaking Countries (PSCs)” สำหรับเป็นแพลตฟอร์มในการขยายโอกาสในการพัฒนาธุรกิจระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาโปรตุเกส เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนผู้ใช้ภาษาโปรตุเกสในการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจในจีน โดยเฉพาะการลงทุนในเขต Macao – Hengqin Zone และพื้นที่ GBA และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจตามนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ของจีน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมาเก๊า GBA และจีนน่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ
ส่งเสริมเป็นฮับท่องเที่ยวและสันทนาการระดับโลก
นอกจากการส่งเสริมให้มาเก๊าเป็นศูนย์กลางทางการเงินอีกแห่งหนึ่งของจีนแล้ว รัฐบาลมาเก๊ายังเสริมสร้างขีดความ สามารถของมาเก๊าในด้านการท่องเที่ยวและกิจกรรมสันทนาการ เพื่อส่งเสริมให้มาเก๊าเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและกิจกรรมสันทนาการระดับโลก (World Centre of Tourism and Leisure) ผ่านการดำเนินนโยบาย “Tourism+” ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมาเก๊าร่วมกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรม MICE 2.การแพทย์/สุขภาพ (โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนายาแพทย์แผนจีน) 3.e-commerce 4. วัฒนธรรมและกีฬา และ5.อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
โอกาสของธุรกิจไทย การพลิกโฉมมาเก๊าสู่ความหลากหลายทางเศรษฐกิจนี้ หมายถึงโอกาสนานัปการสำหรับธุรกิจไทย
1.Financial Service and E-Commerce ธุรกิจไทยสามารถจับมือกับธุรกิจมาเก๊าเพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและบริการทางการเงิน (financial service) เพื่อตอบสนองนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมการเงินของมาเก๊า รวมทั้งร่วมมือในด้าน e- commerce เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและการค้าระหว่างกัน โดยรัฐบาลมาเก๊ามีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในมาเก๊า ผ่านโครงการ SMEs Aid Scheme (สนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจในมาเก๊าจำนวนสูงสุด 2.6 ล้านบาท/ราย) และโครงการ SME Credit Guarantee Scheme (ค้ำประกันเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการ สูงสุด 70% วงเงินค้ำประกันประมาณ 21.32 ล้านบาท/ราย) หากสนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของทั้ง 2 โครงการได้ที่ www.scdt.gov.mo/en/home-coming/work-employment/business/
2.Medical Tourism ไทยและมาเก๊าต่างมีศักยภาพที่โดดเด่นในด้านการแพทย์/สุขภาพ และการท่องเที่ยว รวมทั้งมีนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรม MICE และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเช่นเดียวกัน ดังนั้น การร่วมมือด้านอุตสาหกรรม MICE และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกับมาเก๊าจึงเป็นประเด็นที่ธุรกิจไทยไม่ควรมองข้าม
3. Bridge to Portuguese Speaking Countries มาเก๊าเป็นที่ตั้งของศูนย์ “Complex of Commercial and Trade Co-operation Platform for China and Portuguese Speaking Countries (PSCs)” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการขยายโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน วัฒนธรรม และอุตสาหกรรม MICE ระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาโปรตุเกส ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของธุรกิจไทยในการใช้มาเก๊าเป็นฐานในการขยายธุรกิจสู่ตลาดกลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาโปรตุเกสอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากตลาด GBA และตลาดจีนแผ่นดินใหญ่
ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : Thaibizchina.com