ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 20-21 มิ.ย.2565
เก็บตกปรากฎการณ์ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าและร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านความเห็นชอบจากสภาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สามารถวิเคาระห์ ปัจจัยที่ทำให้ 2 กฎหมายดังกล่าวผ่านสภาได้ 4 ประเด็นใหญ่ๆดังนี้
เรื่องที่ 1,191 1. กระแสสังคม การเสนอกฎหมายของพรรคก้าวไกลนั้น นอกจากจะเสนอในสภาแล้ว ยังมีการจัดแคมเปญ รณรงค์เรื่องดังกล่าว ทำให้เกิดการตื่นตัวในหมู่ประชาชน ดังนั้น สำหรับพรรคก้าวไกล นอกจากจะทำงานในสภาแล้ว นอกสภายังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
2. รัฐบาลยากที่จะปฏิเสธ เมื่อกระแสสังคมจุดติดแล้ว แรงกดดันก็พุ่งไปที่รัฐบาล ว่าจะรับหลักการ 2 ร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ในขณะเดียวกัน 2 กฎหมายดังกล่าว ถือเป็นเรื่องใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมของประเทศ หากรัฐบาลไม่รับ ก็จะเจอข้อครหาว่า ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
เช่น หากรัฐบาลไม่รับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ก็จะเจอกับข้อกล่าวหาว่า มองแต่ผลประโยชน์ของนายทุน หากไม่รับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็จะถูกมองว่า ไม่สนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ร่างกฎหมายเหล่านี้ จึงเหมือนการมัดมือรัฐบาลให้รับหลักการก็ว่าได้
3. เวลาที่เหมาะสม ช่วงเวลามีความสำคัญมาก เช่น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถูกพิจารณาในช่วงเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วง Pride Month หรือ “เดือนแห่งความภาคภูมิใจ” ของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มีการจัดงาน Pride Month เป็นกิจกรรมสำคัญที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยการจัดกิจกรรมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น เอื้อให้เกิดการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรมเท่าเทียม
4. วิปรัฐบาลไม่ขลัง ก่อนการพิจารณาวิปรัฐบาล ได้มีการประชุมและเห็นควรที่ไม่รับหลักการร่างกฎหมายของฝ่ายค้าน แต่เมื่อลงมติปรากฏว่า ส.ส.รัฐบาลบางส่วนกลับโหวตให้กับกฎหมาย 2 ฉบับนี้
เรื่องที่ 1,192 หลังจากสุมไฟก่อกองเพลิงจนกระทรวงพลังงานไหม้เกรียมไปเป็นที่เรียบร้อย “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า และอดีต รมว. คลัง ก็ลากเชื้อเพลิงไปจุดต่อที่กระทรวงพาณิชย์ โดยระบุว่ามีวิธีลดราคาน้ำมันลงได้ทันทีถึง 4 บาท โอ้วแม่เจ้ามันจะเป็นไปได้ขนาดนั้นเลยเหรอ ฟังแล้วก็มีคำถามมากมายเกิดขึ้นในหัว ซึ่ง “กรณ์” อธิบายว่า การจะดำเนินการดังกล่าวได้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 24 และ 25(2) พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและการบริการ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน สามารถใช้อำนาจกำหนดอัตรากำไรของสินค้าควบคุมได้
“กรณ์” บอกว่าก๊าซปิโตรเลียมเหลวและน้ำมันเชื้อเพลิง ถือเป็นสินค้าควบคุมตามบัญชีของคณะกรรมการ และเมื่อเทียบค่าการกลั่นเฉลี่ย 3 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 1.91 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นราคาที่มีกำไรอยู่แล้ว จนมาเจอกับสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาค่าการกลั่นสูงขึ้นเรื่อยๆ บางวันสูงขึ้นถึง 8.56 บาท/ลิตร แต่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.80 – 6 บาทต่อลิตร เมื่อนำค่าการกลั่นช่วงแรกกับช่วงหลังมาหักลบกัน ราคาก็จะลดลงได้ทันทีถึง 4 บาทต่อลิตร แน่นอนว่านอกจากคำถามที่เกิดขึ้นในหัวว่าทำได้จริงหรือ อีกหนึ่งคำถามที่ผุดขึ้นมาพร้อมกันก็คือ คนในฝั่งรัฐบาลไม่รู้เรื่องนี้กันเลยหรือไง แต่ก็ไม่แน่นะพรุ่งนี้ (20 มิ.ย.) อาจจะมีการหงายการ์ดไพ่ตายอีกว่า คิดไว้แล้วเพียงแต่ยังไม่ได้ดำเนินการเหมือนเรื่องของค่าการกลั่นที่ต้องรอให้พรรคกล้าออกมาแฉก่อน ขณะที่อีกแวบความคิดหนึ่งก็อยากให้ “กรณ์” มานั่งในตำแหน่งเหล่านั้นดูบ้างเหมือนกัน อยากเห็นว่าจะทำได้ไหม เพราะจากประสบการณ์เท่าที่เห็นมาเวลาที่ยังไม่มีตำแหน่งทุกอย่างสามารถทำได้หมดนั่นแหละ แต่พอสวมหมวกรับตำแหน่งแล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งจริงไหมครับเจ้านาย
โดยนพวัชร์