ส่องมาตรการลดค่าครองชีพสู้เงินเฟ้อ ดึงกำไรโรงกลั่นตรึงดีเซล – ลดเบนซิน
สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปียังมีความไม่แน่นอนสูงจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศที่การสู้รบระหว่างยูเครนกับรัสเซียยังไม่มีที่ทางว่าจะยุติลง ส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาน้ำมัน พลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์และอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่ามาก
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องของเศรษฐกิจที่มาจากปัจจัยเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ยังเดินหน้าทำจุดสูงสุดโดยในเดือน มิ.ย.เงินเฟ้อสหรัฐฯยังพุ่งสูงถึงระดับ 8.6% ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นรวดเดียวถึง 0.75% ถือว่าเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งเดียวสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี และกลายเป็นปัจจัยเร่งให้ธนาคารกลางหลายประเทศตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตาม FOMC เพื่อป้องกันเงินทุนไหลออกและแก้ปัญหาเงินเฟ้อเช่นเดียวกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มส่งสัญญาณในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาของเงินเฟ้อเช่นกัน
เตรียมมาตรการรองรับการขึ้นดอกเบี้ย–เศรษฐกิจผันผวน
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานกล่าวว่าในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงและมีปัญหาในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่สูง เมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มที่จะมีการปรับตัวสูงขึ้นก็จะกระทบกับหนี้สินครัวเรือนของประชาชน ที่ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงถึงกว่า 90% รวมทั้งดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อการลงทุนของบริษัทเอกชนโดยเฉพาะที่เป็นเอสเอ็มอี ทำให้รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการรองรับโดยลดค่าครองชีพควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อพร้อมๆกัน เพื่อให้ช่วงที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นช้าๆจากภาคการท่องเที่ยวที่จะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังมีมาตรการรองรับในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น
รัฐบาลเตรียมคลอดชุดมาตรการสู้เงินเฟ้อ ก.ค. – ก.ย.
ปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 มาถึงปัญหาค่าครองชีพสูง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะที่มาตรการลดค่าครองชีพต่างๆที่รัฐบาลเคยออกมาช่วยเหลือประชาชน 10 มาตรการกำลังจะหมดลงในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ทำให้รัฐบาลต้องเร่งออกชุดมาตรการใหม่ออกมาดูแลประชาชนต่อเนื่อง
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาหน่วยงานเศรษฐกิจประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการหารือกันถึงชุดมาตรการที่จะออกมาในระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้าเพื่อดูแลประชาชน ทั้งนี้เมื่อสรุปชุดมาตรการได้แล้ว “ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล” ได้นำเอาชุดมาตรการที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 21 มิ.ย.2565 ไปเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้รับทราบที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ชุดมาตรการที่จะนำเสนอเข้าสู่ ครม.ในวันที่ 21 มิ.ย.ประกอบไปด้วยมาตรการเดิมและมาตรการใหม่ซึ่งจะเป็นการขยายนิยามความช่วยเหลือประชาชนจากเดิมที่มีการช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบจากสงครามยูเครน และรัสเซีย ออกไปเป็นชุดมาตรการสำหรับการดูแลและลดผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน และประกอบไปด้วยทั้งมาตรการเดิมและมาตรการใหม่ ขณะที่บางมาตรการที่เคยอยู่ใน 10 ชุดมาตรการเดิมจะไม่ได้อยู่ในชุดมาตรการใหม่ที่รัฐบาลจะออกมา
สำหรับมาตรการที่จะมีการต่ออายุออกไปอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค. ก.ย.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าชุดมาตรการที่จะออกมาในส่วนการต่ออายุมาตรการเดิมออกไปได้แก่
ต่ออายุช่วยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ – ผู้มีรายได้น้อย
1.การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาท/เดือน
2.การให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค่าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน
3. การให้ความช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้ประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม
4.การขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม ให้สิทธิ์ผู้ขับขี่แท๊กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม โดยมาตรการนี้คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติให้ต่ออายุมาตรการออกไปอีก 3 เดือนจนถึงเดือน ก.ย.เรียบร้อยแล้ว
5.การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 35 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นรวมทั้งกำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มโดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป
และ 6.มาตรการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ที่จะหมดอายุในเดือนสิงหาคม จะเสนอเข้า ครม.อีกครั้งก่อนที่มาตรการเดิมจะหมดอายุ
ลดหย่อนภาษี 2 เท่าสนับสนุนท่องเที่ยวเมืองรอง
ในส่วนของมาตรการใหม่ที่จะมีการเสนอรวมเข้ามาในชุดมาตรการที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ได้แก่
1.มาตรการการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยมาตรการส่งเสริมการประชุม จัดสัมมนา หรือนิทรรศการในต่างจังหวัด ซึ่งหากบริษัทเอกชนไปจัดงานการประชุม สัมมนา หรืออีเวนท์ในต่างจังหวัดจะลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งในจังหวัดเมืองหลักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า และเมืองรองลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-31 ธ.ค.2565
และ2.มาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนเรื่องราคาน้ำมันรัฐบาลได้มีการเจรจากับโรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซทั้งหมดที่มีกำไรเพิ่มขึ้นในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมาช่วยเหลือค่าน้ำมันประชาชนโดยส่งเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และลดราคาน้ำมันเบนซิน เป็นเงินรวมทั้งหมดประมาณ 7,500 – 8,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ก.ย.2565 รวมเป็นเงินที่รัฐบาลสามารถขอความร่วมมือจากโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซทั้งหมดเป็นวงเงินรวมสูงสุดประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท
โดยการเก็บเงินจากธุรกิจโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซจากกำไรการกลั่นน้ำมัน และการแยกก๊าซ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.กำไรจากการกลั่นน้ำมันดีเซลเดือนละประมาณ 5 – 6 พันล้านบาท โดยเงินส่วนนี้จะส่งเข้าสู่กองทุนน้ำมันฯ
2.กำไรจากการกลั่นน้ำมันเบนซินจะเก็บจากโรงกลั่นเดือนละ 1 พันล้านบาท โดยในส่วนนี้จะมีการเก็บเงินเพื่อไปชดเชยให้กับผู้ใช้ราคาเบนซิน โดยลดราคาน้ำมันเบนซินให้กับผู้ใช้เบนซิน 1 บาทต่อลิตร
และ 3.เก็บจากกำไรของโรงแยกก๊าซเดือนละประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยกำไรส่วนนี้จะเก็บเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนเช่นกัน
ดึงกำไรโรงกลั่นช่วยกองทุนน้ำมันฯ 2 หมื่นล้าน
ทั้งนี้จะมีเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันจากการเก็บเงินจากโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซทั้งหมดประมาณเดือนละ 6,000 – 7,500 ล้านบาท อย่างไรก็ตามต้องมีการดำเนินการในเรื่องการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันอยู่ดี เพราะกองทุนน้ำมันมีภาระต้องชดเชยราคาพลังงานอยู่ที่ประมาณเดือนละ 2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน
โดยมาตรการนี้เป็นการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนทั้งในส่วนของผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ โรงกลั่นบางจาก ไทยออยล์ สตาร์ปิโตรเลี่ยม เอสโซ่ ไออาร์พีซี พีทีทีจีซี โดยได้รับความร่วมมืออย่างดี และไม่ต้องมีการออกกฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวงแต่อย่างไร
นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังให้คงค่าการตลาดไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตร รวมทั้งจะขอความร่วมมือปิดไฟป้ายโฆษณาและให้ห้างสรรพสินค้าปิดแอร์ก่อนถึงเวลาปิดห้าง 1 ชั่วโมงเพื่อลดการใช้พลังงานในประเทศด้วย
ไม่ต่ออายุมาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม
สำหรับมาตรการปรับลดเงินสมทบประกันสังคมที่เคยเป็นหนึ่งในชุดมาตรการเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 40 เหลือ 42 – 180 บาทต่อเดือน จะไม่มีการต่อมาตรการออกไปในช่วง 3 เดือนนี้
โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน บอกว่าที่ไม่ต่อการลดเงินสมทบประกันสังคมออกไปเนื่องจากกังวลสถานะของกองทุนประกันสังคมเพราะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดได้มีการลดการจ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมแล้วเป็นจำนวนมากจึงต้องกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามปกติ